ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรดิ่งหนักสุดในรอบ 14 เดือน เหตุวิตกปัญหาหนี้กรีซลุกลาม

ข่าวต่างประเทศ Friday May 7, 2010 07:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินยูโรดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐและเงินเยน ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (6 พ.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่าปัญหาหนี้สาธารณะและยอดขาดดุลงบประมาณของกรีซอาจลุกลามในวงกว้าง นอกจากนี้ การร่วงลงอย่างหนักของตลาดหุ้นนิวยอร์กยังกระตุ้นให้นักลงทุนเทขายสกุลเงินยูโรและหันไปถือครองดอลลาร์สหรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง

ค่าเงินยูโรดิ่งลง 1.62% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.2605 ยูโร/ดอลลาร์ จากระดับของวันพุธที่ 1.2812 ยูโร/ดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินปอนด์ร่วงลง 2.74% แตะที่ 1.4826 ปอนด์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.5244 ปอนด์/ดอลลาร์

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 3.94% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 90.170 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันพุธที่ 93.870 เยน/ดอลลาร์ และดิ่งลง 0.34% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.1143 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.1181 ฟรังค์/ดอลลาร์

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 2.16% แตะที่ 0.8853 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับของวันพุธที่ 0.9048 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ดิ่งลง 0.99% แตะที่ 0.7106 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.7177 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย

ค่าเงินยูโรถูกกระหน่ำขายอย่างหนักเนื่องจากความกังวลที่ว่าปัญหาหนี้สาธารณะและยอดขาดดุลของกรีซอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งความกังวลในเรื่องดังกล่าวได้กดดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กดิ่งลง 998.5 จุด หรือ 9.19% สู่ระดับต่ำกว่า 10,000 จุดในระหว่างวัน ซึ่งเป็นการร่วงลงในระหว่างวันที่หนักที่สุดเป็นประวัติการณ์

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ของกรีซรุนแรงมากขึ้นเมื่อสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส เตือนว่า วิกฤตหนี้สินที่ถาโถมเข้าใส่กรีซอยู่ในเวลานี้อาจลุกลามจนส่งผลกระทบต่อระบบธนาคารของประเทศอื่นๆในภูมิภาค อาทิ โปรตุเส อิตาลี สเปน ไอร์แลนด์ และอังกฤษ

นอกจากนี้ นักลงทุนกังวลว่าปัญหาด้านการเงินของกรีซอาจส่งผลให้เกิดการประท้วงที่รุนแรงภายในประเทศ หลังจากมีผู้เสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 40 คน จากเหตุการณ์ที่ชาวกรีซชุมนุมประท้วงในกรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซ เพื่อประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดที่รัฐบาลกรีซกำหนดขึ้นเพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

รัฐบาลกรีซกำลังเผชิญกับภาระหนี้สาธารณะมูลค่า 3 แสนล้านยูโร หรือคิดเป็นสัดส่วน 13.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทำให้รัฐบาลต้องประกาศใช้มาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้กรีซลดภาระหนี้สินได้ 3 หมื่นล้านยูโรในอีก 3 ปีข้างหน้า

ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 1% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยหลังจากอีซีบีได้แถลงก่อนหน้านี้ว่า ธนาคารกลางจะยังคงยอมรับพันธบัตรรัฐบาลกรีซในฐานะหลักทรัพย์ค้ำประกันต่อไป แม้ว่าสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำอย่าง สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรของกรีซลงสู่ระดับไม่น่าลงทุน หรือระดับขยะ (junk status) ก็ตาม

นักลงทุนจับตาดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (nonfarm payrolls) เดือนเม.ย.ที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันศุกร์นี้ หลังจาก ADP Employer Services ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านตลาดแรงงานในสหรัฐเปิดเผยว่า ภาคเอกชนของสหรัฐเพิ่มการจ้างงานในเดือนเม.ย. 32,000 ตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีทคาดการณ์ไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ