นายฉัตรชัย ชัยวิเศษ ที่ปรึกษาสมาคมพัฒนารถร่วมบริการเอกชน เปิดเผยว่า ในการประชุมสมาคมฯ วันที่ 13 พ.ค.นี้ จะมีการหารือถึงแนวทางการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเดินรถที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 29 บาท/ลิตร
นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดงชุมนุมปิดถนนที่ราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ ตั้งแต่เดือนมี.ค. ส่งผลให้ต้องมีการปรับเส้นทางการเดินรถ และทำให้รายได้จากค่าโดยสารลดลงไปมาก
"ผู้ประกอบการย่ำแย่มาก แต่ช่วงที่ผ่านมาก็ไม่อยากเคลื่อนไหวอะไร เพราะสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่สงบ แต่ขณะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ดังนั้นเราเห็นว่าเป็นการสมควรที่ต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลหาแนวทางช่วยเหลือเอกชนบ้าง โดยเฉพาะการขอขึ้นค่าโดยสารใหม่ เพราะตอนนี้ราคาน้ำมันทะลุ 29 บาทต่อลิตรแล้ว" นายฉัตรชัย กล่าว
นายฉัตรชัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรถร่วมฯ ได้ปรับลดอัตราค่าโดยสารไปแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งขณะนั้นน้ำมันดีเซลอยู่ที่ระดับ 26 บาท/ลิตร และหลังจากการปรับลดค่าโดยสารในครั้งดังกล่าว ปรากฏว่าน้ำมันดีเซลได้ปรับราคาขึ้นอีกครั้ง และยังยืนอยู่ในระดับราคาที่สมควรจะต้องปรับขึ้นค่าโดยสารได้แล้ว ซึ่งหากไม่มีการปรับขึ้นค่าโดยสารตามที่เรียกร้อง จะทำให้ผู้ประกอบการเดินรถต้องประสบปัญหาขาดทุนสะสมเพิ่มมากขึ้นแน่นอน
ด้านนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงคมนาคมจะไม่อนุมัติให้ผู้ประกอบการรถร่วม ขสมก. หรือรถโดยสารประเภทอื่นปรับขึ้นค่าโดยสารในช่วงนี้ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนได้รับความเดือดร้อน และไม่ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางอยู่แล้ว ประกอบกับราคาน้ำมันยังมีความผันผวน
นายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าโดยสารคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากในปัจจุบันการพิจารณาค่าโดยสารไม่ได้คิดบนฐานราคาน้ำมันเพียงอย่างเดียว เพราะรถโดยสารใหม่ที่ต่อสัญญาร่วมบริการกับขสมก.ต้องเป็นรถโดยสารใช้เอ็นจีวี ซึ่งราคาเอ็นจีวีก็ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการชุมนุมของนปช.ส่งผลกระทบต่อการบริการ ปริมาณผู้โดยสาร และรายได้ของผู้ประกอบการรถร่วมขสมก. และขสมก.ค่อนข้างมาก โดยในส่วนของขสมก.รายได้ลดลงเกือบ 50%
ส่วนปัญหาความล่าช้าในการดำเนินการต่อสัญญาร่วมบริการนั้น เป็นเพราะรายละเอียดของสัญญาร่วมบริการแต่ละเส้นทางมีความซับซ้อน บางเส้นทางมีผู้ประกอบการหลายราย ขสมก.ก็ต้องให้ผู้ประกอบการแต่ละรายตกลงเกี่ยวกับรายละเอียดการเดินรถที่ต้องไม่ซับซ้อน หรือแย่งรับผู้โดยสารกัน ขณะเดียวกันขสมก.ยังมีการย้ายสำนักงานให้บริการรถร่วมมาที่สำนักงานใหญ่ จึงอาจส่งทำให้การดำเนินงานล่าช้าไปบ้าง
“ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรถร่วมที่ยื่นเรื่องขอต่อสัญญาร่วมบริการ และอยู่ระหว่างการพิจารณาเพียง 6 รายเท่านั้น โดยขสมก.จะได้พิจารณารายละเอียดทุกด้านอย่างรอบคอบ รวมทั้งการติดตามให้ผู้ประกอบการชำระหนี้ค้างจ่ายค่าธรรมเนียม โดยหากผู้ประกอบการรายใดไม่มีการชำระหนี้ค้างจ่ายก็จะไม่พิจารณาต่อสัญญาให้ และปัจจุบันขสมก.ได้ยกเลิกการต่อสัญญากับผู้ประกอบการแล้ว 2 เส้นทาง คือ สาย 6 และ 88" นายโอภาส กล่าว