นักวิเคราะห์แนะจีนใช้นโยบายคุมเข้มต่อไปหลังอียูและไอเอ็มเอฟออกมาตรการช่วยเหลือกรีซ

ข่าวต่างประเทศ Tuesday May 11, 2010 13:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์ชาวจีนกล่าวว่า มาตรการมูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อป้องกันวิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซลุกลามไปทั่วยุโรป จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในหลายแง่มุม ขณะที่จีนเผชิญกับความไม่แน่นอนในเรื่องของการลงทุนในต่างประเทศ การส่งออก นโยบายการเงิน และการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายจาง เซียวจี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของศูนย์การวิจัยพัฒนาของคณะรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือดังกล่าวจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นในตลาดและบรรเทาความตื่นตระหนกไม่เพียงแต่ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจกรีซเท่านั้น แต่ยังช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในยุโรปด้วยเช่นกัน

ทางด้านสตีเฟน โจส ผู้อำนวยการฝ่ายบริการคาดากรณ์ของ Economist Intelligence Unit กล่าวว่า ข้อตกลงนี้จะช่วยให้ภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ และจะช่วยลดความกังวลเรื่องวิกฤตจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป

ด้านนายหยู หยิงชิง ประธาน China Society of World Economics กล่าวว่า ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าสถานการณ์ในยุโรปนั้นมีเสถียรภาพขึ้นแล้ว วิกฤตกรีซชี้ให้เห็นถึงภาวะอ่อนแอของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ว่า จะเกิดขึ้นอะไรขึ้นในอนาคต เงินยูโรอาจจะยังคงอ่อนค่า ขณะที่เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น ดังนั้นถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้บริหารระดับนโยบายของจีนที่ต้องการกระจายการลงทุนในด้านไฟแนนซ์ในต่างประเทศ

นายหยูกล่าวต่อไปว่า ไม่ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงการคุมเข้มนโยบายการเงินในปัจจุบันของจีน แม้ว่าความผันผวนในต่างประเทศจะเกิดขึ้นจากวิกฤตกรีซ เราไม่ควรจะเร่งรีบเปลี่ยนแปลงใดๆเมื่อพิจารณาจากการขยายตัวของปริมาณเงินที่สูงเกินไปและราคาสินทรัพย์ที่อยู่ในระดับสูงของประเทศ

คณะกรรมการบริหารของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้อนุมัติเงินกู้มูลค่า 3 หมื่นล้านยูโร หรือ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และรัฐมนตรีคลังของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) มีมติจัดตั้งกองทุนสร้างเสถียรภาพด้านการเงิน คิดเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 5 แสนล้านยูโร หรือ 6.70 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีเป้าหมายที่จะป้องกันไม่ให้วิกฤตหนี้กรีซลุกลามไปทั่วภูมิภาคและบั่นทอนเสถียรภาพของสกุลเงินยูโร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ