นายกสมาคมชาวนาฯ คาดแล้งจัดฉุดผลผลิตข้าวปีนี้วูบ 15% ซ้ำเติมเพลี้ยระบาด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 11, 2010 15:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย เปิดเผย"อินโฟเควสท์"ว่า ปริมาณผลผลิตข้าวใหม่ปีนี้ลดลงประมาณ 15% จากปกติที่จะอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านตันต่อปี เนื่องมาจากสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้รุนแรงมาก และรุนแรงกว่าหลายปีที่ผ่านมา

ล่าสุด นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในอ่าง ทั้งเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพลรวมกันมีกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น ทำให้ไม่สามารถปล่อยน้ำได้อีกแล้ว รอเพียงปริมาณฝนรอบใหม่ ที่จะตกลงมา

ขณะที่ระดับน้ำในเขื่อนป่าสักเหลือต่ำสุดในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่สร้างเขื่อน พร้อมกันนี้ได้ขอให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ในลุ่มป่าสัก ตั้งแต่ จ.สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี และปทุมธานี ชะลอการปลูกข้าวนาปีออกไปก่อน เนื่องจากทางเขื่อนไม่สามารถส่งน้ำให้แก่เกษตรกรได้ในระยะนี้ คาดว่าจะส่งน้ำให้แก่เกษตรกรได้ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนไปแล้ว

นายประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ มาจากหลายปัจจัย ทั้งสภาพอากาศร้อนจัด น้ำในเขื่อนต่างๆลดลง และชาวนาบางส่วนก็ทำนากันตลอด บางพื้นที่ 2 ปี ทำนา 4-5 รอบ บางที่ปีละ 3 รอบ ซึ่งภาครัฐก็เตือนแล้ว

"จริงๆช่วงเดือนพฤษภาก็เริ่มมีฝนเข้ามาแล้ว แต่ฝนมันทิ้งช่วง แล้วฤดูกาลของฝนเรากำหนดไม่ได้ เพราะธรรมชาติเปลี่ยนไปหมด เพราะฉะนั้นชาวนาก็ต้องพัฒนาตนเอง และปรับปรุงวิถีชีวิต จะรอให้รัฐเข้ามาช่วยดูแลทุกอย่างคงเป็นไปไม่ได้ เพราะอาจทำได้ไม่ทั่วถึง ชาวนาก็ต้องลดบางส่วน ทำอะไรที่ไม่ต้องใช้น้ำมากเกินไป ก็น่าจะดี ซึ่งชาวนาทุกคนเข้าใจเรื่องนี้ รู้แต่ก็ยังทำ ก็ไม่รู้จะแก้ยังไง"นายประสิทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การลดลงของปริมาณผลผลิตในปีนี้ คงไม่ได้เกิดจากปัญหาภัยแล้งเพียงอย่างเดียว แต่มาจากปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดด้วย แต่การที่ผลผลิตลดลงแล้วจะทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นหรือไม่นั้น นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่เสมอไปเพราะการที่อากาศร้อนจัด แล้งจัด จะทำให้ข้าวสุกเร็วกว่าที่ควรจะเป็น แม้รอบวันในการทำนาจะเท่าเดิมคือประมาณ 100-120 วัน ต่อการทำนา 1 รอบ ก็อาจจะทำให้คุณภาพข้าวลดลง ราคาก็อาจจะตกลงได้บ้าง

แต่เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาชาวนาออกมาประท้วงเรื่องราคาขายข้าวตกต่ำอีก เพราะมาตรการรัฐล่าสุด โดยเฉพาะเรื่องใช้เกณฑ์ราคาอ้างอิงข้าวภายในโครงการประกันรายได้เกษตรกรโดยให้ยึดราคาตลาดย้อนหลัง 7 วันน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้มาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ