นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้จัดจ้าง European Center for International Political Economy (ECIPE) เพื่อศึกษาเชิงลึกตลาดใหม่ 5 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์ โรมาเนีย สโลวาเกีย และสโลวาเนีย ซึ่งเป็นตลาดที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออก โดยเฉพาะ 4 ประเทศแรก มีการขยายตัวของตลาดและอัตราเจริญเติบโตของ GDP ค่อนข้างสูง แสดงให้เห็นว่ามีภาวะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นตลาดที่น่าสนใจมากสำหรับการลงทุนและการส่งออกสินค้าของไทย
จากการศึกษาของ ECIPE พบว่าสินค้าส่งออกที่สำคัญอันดับต้น ๆ จากไทยที่ส่งไป 5 ประเทศดังกล่าว ได้แก่ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า ยาง เหล็ก ยานพาหนะ ใยประดิษฐ์ สิ่งทอ พลาสติก อัญมณี เครื่อง แต่งกาย ไข่มุกธรรมชาติเลี้ยง เลนส์ อุปกรณ์ในการถ่ายรูป เป็นต้น ส่วนสินค้าอาหาร ได้แก่ ธัญพืช ปลาปรุงแต่ง ผลไม้ต่าง ๆ เป็นต้นโดยคู่แข่งของไทยในการส่งออกปลาปรุงแต่ง คือ โมร็อกโก ชิลี โครเอเชียและเวียดนาม คู่แข่งในการส่งออกผลไม้และลูกนัท ได้แก่ จีนและตุรกี ซึ่งไทยน่าจะเพิ่มการส่งออกสับปะรดและมะม่วง
ทั้งนี้ ใน 5 ประเทศดังกล่าว ประเทศที่นำเข้าจากไทยมากที่สุด คือ สาธารณรัฐเช็ก 430 ล้านยูโร รองลงมา ได้แก่ โปแลนด์ 317.3 ล้านยูโร สโลวาเกีย 138 ล้านยูโร โรมาเนีย 89 ล้านยูโร และสโลเวเนีย 35 ล้าน ยูโร ตามลำดับ
รองอธิบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ECIPE ได้เน้นศึกษาสาขาอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันใน EU 5 ประเทศ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหาร (ประมง ผลไม้) โอกาสและช่องทางการติดต่อการนำเข้าสินค้า กลยุทธ์การทำตลาดและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ความต้องการสินค้าของลูกค้า พฤติกรรมการบริโภคตามมาตรฐานความเป็นอยู่ของแต่ละประเทศ รวมถึงปัจจัยในการตัดสินใจซื้อสินค้าและการสร้างตราสินค้าของไทยให้มีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับของผู้ค้าปลีกและผู้บริโภค
สำหรับด้านการลงทุน พบว่าการทำธุรกิจร้านอาหารและสปาเป็นสาขาที่น่าสนใจและมีศักยภาพสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยในรายงานการศึกษาจะมีข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบการจดทะเบียนธุรกิจ การเลือกอาคารสถานที่ การประกันภัย การจ้างแรงงาน ฯลฯ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจที่จะไปลงทุนใน 5 ประเทศดังกล่าว
นอกจากนี้ ECIPE ยังได้ศึกษาการนำเข้าสินค้าจากไทยภายใต้สิทธิ GSP และระบบ Logistic ซึ่งประกอบด้วยท่าเรือที่สำคัญในการเข้าสู่ตลาดใหม่ EU 12 ประเทศ (บัลแกเรีย ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เอสโตเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิธัวเนีย มอลตา โปแลนด์ โรมาเนีย สโลวาเกีย และสโลเวเนีย) ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปสู่ EU 5 ประเทศได้ ได้แก่ ท่าเรือ Varna ประเทศบัลแกเรีย Constantza ประเทศโรมาเรีย Koper หรือ Luka Koper ประเทศสโลเวเนีย และท่าเรือ Gdansk ประเทศโปแลนด์
อย่างไรก็ดี การที่ไทยจะขยายตลาดใน 5 ประเทศดังกล่าว ผู้ส่งออกไทยและภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรเน้นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพและเพิ่มการส่งออกได้ ปัจจัยสำคัญ คือ ราคา คุณภาพสินค้าและความน่าเชื่อถือ ซึ่งผู้ซื้อต้องมั่นใจว่าสินค้าได้มาตรฐาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้แรงงานตามมาตรฐานสากลและสามารถจัดส่งสินค้าได้ตามเวลาที่กำหนด
นอกจากนี้ การเข้าถึงข้อมูลและแหล่งข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญ โดยต้องให้ข้อมูลทันต่อเหตุการณ์ เพื่อลดปัญหาด้านกฎระเบียบและมาตรฐานสินค้าของสหภาพยุโรป ทำให้ผู้ประกอบการของไทยและผู้นำเข้าสามารถปรับตัวได้ทันท่วงที ข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งกลยุทธ์และวิธีการประกอบธุรกิจการค้าและการลงทุนที่ปรากฎในรายงานการศึกษาเชิงลึกเพื่อให้เข้าถึงตลาดใหม่ 5 ประเทศดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะทำการค้าและการลงทุน