In Focusปัญหาหนี้กรีซ ระเบิดเวลาลูกใหญ่ในมือไอเอ็มเอฟ วิกฤตการเงินที่บั่นทอนความเชื่อมั่นและดับฝันวันฟ้าใสในยุโรป

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 12, 2010 10:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมฆหมอกแห่งความกังวลและภาวะขาดความเชื่อมั่นที่ปกคลุมเหนือน่านฟ้าการเงินในยุโรปขณะนี้ หนาทึบและน่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่าควันเถ้าถ่านจากปล่องภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งไอย์ยาฟยัลลาโยกูล ในไอซ์แลนด์ แม้หมอกควันจากภูเขาไฟได้บดบังท้องฟ้าและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินในยุโรป ถึงกระนั้นชาวยุโรปก็ทำใจยอมรับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าในครั้งนี้ได้ แต่ “ปัญหาหนี้กรีซ" ที่สั่นคลอนเสถียรภาพการเงินยุโรปและฉุดตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงแบบเทกระจาด เป็นเหตุการณ์ที่ผู้คนส่วนใหญ่ หรือแม้แต่ผู้นำในกลุ่มชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ไม่อาจยอมรับได้ นั่นเพราะปัญหาของกรีซเกิดจากการที่รัฐบาลถลุงงบประมาณและใช้จ่ายเกินตัว ทำให้รัฐมีหนี้สาธารณะ (Sovereign Debt) สูงถึง 2.94 แสนล้านดอลลาร์

เมื่อถูกหนี้สินต้อนเข้ามุมจนกระดิกไม่ได้ รัฐบาลกรีซก็ตัดสินใจ "ล้อมคอก" ด้วยการตัดงบประมาณและสวัสดิการต่างๆภายในประเทศ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ตั้งขึ้นเพื่อแลกกับการขอกู้เงินจำนวนมหาศาลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) การตัดสินใจของรัฐบาลทำให้ชาวกรีซจำนวนมากไม่สามารถอดทนอดกลั้นต่อไปได้ จึงพากันออกมาเดินขบวนประท้วง การชุมนุมขยายวงกว้างและดุเดือดจนถึงขั้นมีการจุดไฟเผาตึกหลายแห่งกลางกรุงเอเธนส์ ทำมีผู้เสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บอีกเกือบ 100 คน ...วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีนักลงทุนคนดังของสหรัฐ มองโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นกับกรีซว่า "ยิ่งกว่าหนังดราม่าของฮอลลีวู้ด" และแม้ว่าจะได้รับเงินกู้ฉุกเฉินเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์จากไอเอ็มเอฟและอียู ก็ไม่ได้การันตีว่าหนังเรื่องกรีซจะจบลงอย่าง Happy Ending ...อาจเป็นเพราะเรื่องของกรีซไม่มีทั้งผู้กำกับและนักแสดง แต่เป็นชีวิตของผู้คนจริงๆ ที่มีเดิมพันอนาคตเพียงแค่ "ความอดทน"

หนี้สาธารณะหมายถึงเงินที่รัฐบาลไปกู้ยืมจากแหล่งต่างๆทั้งในและต่างประเทศในภาวะที่รัฐมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย การก่อหนี้ของรัฐบาลจึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยทั่วไปแล้ว หากมูลค่าหนี้สาธารณะของประเทศใดสูงใกล้ระดับ 90% ของ GDP ของประเทศ ก็ถือว่าประเทศนั้นมีความเสี่ยงและมีปัญหาในการชำระหนี้ แต่กรีซซึ่งใช้สกุลเงินยูโรร่วมกับอีก 15 ประเทศในกลุ่มยูโรโซน มีหนี้สาธารณะสูงถึง 100% ของ GDP จึงทำให้บรรดาผู้นำยุโรปถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ วิ่งหาทางออกกันจนขาขวิด จนในที่สุดก็จบลงด้วยการเจียดเงินออกจากคลังยุโรป บวกกับเงินกู้พ่วงเงื่อนไขมหาโหดจากไอเอ็มเอฟ รวมกันก็ได้เกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ แต่เนื่องจากกรีซได้รับเงินกู้เป็นวงเงินสูงสุดเท่าที่ประเทศอื่นๆเคยได้รับมา จึงทำให้ไอเอ็มเอฟต้องใช้กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดกับรัฐบาลกรีซมากตามมูลค่าของเงิน รวมถึงการยื่นเงื่อนไขให้รัฐบาลใช้มาตรการรัดเข็มขัดและต้องรายงานผลให้ทราบทุกไตรมาส ไม่ว่าจะเป็นการลดเงินเดือนและโบนัสข้าราชการ ลดเงินบำเน็จบำนาญและเพิ่มอายุการเกษียณงาน ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 21% เป็น 23% และขึ้นภาษีประเภทอื่นๆอีกหลายรายการ นับจากนี้ไป หนี้สาธารณะไม่ใช่ของรัฐบาลกรีซอีกต่อไป แต่เป็นของประชาชนชาวกรีซทั้งประเทศ

ความกังวลเรื่องหนี้สินของกรีซไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความตื่นตระหนกเฉพาะในยุโรปเท่านั้น แต่ยังสร้างความวิตกกังวลไปทั่วโลก นั่นก็เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่หายเซ็งจากวิกฤติซับไพรม์ในปี 2551 ที่เป็นสาเหตุของการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส ตามติดด้วยวิกฤติหนี้ดูไบในปลายปี 2552 ปัญหาดูไบเมื่อปลายปีที่แล้วทำเอานักลงทุนฉลองปีใหม่กันอย่างเหงาหงอย เพราะต้องกังวลกับการปรับพอร์ทและระมัดระวังว่า เมื่อตลาดเปิดการซื้อขายปี 2553 ตนเองจะต้องเจอกับอะไรบ้าง และเมื่อเปิดศักราชปีเสือมาได้ไม่กี่วัน ข่าวการขาดดุลงบประมาณของกรีซก็ผุดขึ้นมาทำให้นักลงทุนผวากันอีกระลอก ปัญหาหนี้สินของกรีซถูกนำไปวิเคราะห์ว่ามีอาฟเตอร์ช็อกรุนแรงต่อเศรษฐกิจยุโรปและเศรษฐกิจโลกไม่แพ้วิกฤตการณ์การเงินโลกในอดีต รวมถึง วิกฤตต้มยำกุ้ง และ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ กระทั่งล่าสุด นักวิเคราะห์อารมณ์ดีหลายคนเริ่มลุกขึ้นมาตั้งฉายาวิกฤตหนี้กรีซกันบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น "วิกฤตซูฟลากี้" ที่ตั้งชื่อขึ้นจากอาหารยอดนิยมของชาวกรีก ทำจากเนื้อสารพัดชนิดเสียบเหล็กย่างแล้วห่อด้วยแป้งพิต้า คล้ายกับเคบับของชาวตุรกี บ้างก็ว่าปัญหาหนี้สินของกรีซน่าจะเรียกกว่า "วิกฤตโอลิมปิก" นั่นก็เพราะกรีซเป็นต้นกำเนิดของกีฬาโอลิปิก มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาตินั่นเอง

นักวิเคราะห์ของบีบีซีมองว่า จุดเริ่มต้นของวิกฤตการเงินกรีซเริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่ครั้งปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 2545 ซึ่งเป็นปีที่กรีซยกเลิกการใช้เงินสกุลดั้งเดิมของประเทศแล้วหันไปใช้เงินสกุลยูโรของปกลุ่มอียูแทน เครดิตของการได้เข้ากลุ่มอียูทำให้กรีซกู้ยืมได้อย่างสะดวกสบายช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการกู้ยืมเงินเพื่อใช้จ่ายในการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงเอเธนส์ในปี 2547 การเป็นเจ้าภาพในครั้งนั้น รัฐบาลกรีซไม่ยอมเสียชื่อประเทศแห่งต้นกำเนิดโอลิมปิก ด้วยการทุ่มเงินมหาศาลจากคลังเพื่อเนรมิตผืนดินแห่งรากอารยธรรมกรีกโบราณ ให้กลายเป็นแดนสวรรค์ที่สะกดสายตาแขกผู้มีเกียรติทั่วโลกที่เดินทางมาเยี่ยมชมทั้งในพิธีเปิดและพิธีปิด

การรวมกลุ่มยูโรโซนภายใต้ความแตกต่างของรากฐานทางเศรษฐกิจและการที่ไม่มีกลไกจัดการกับความไม่สมดุลภายในกลุ่มนี้เอง ทำให้นางแองเจลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี มองว่า "รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย" อาจใช้ไม่ได้กับยุโรป เธอจึงเป็นหญิงเหล็กหนึ่งเดียวของยุโรปที่ลุกขึ้นสนับสนุนการ "ลอยแพกรีซ" ตั้งแต่เริ่มแรก แมร์เคลมองว่า หาก "โมเดลอุ้มกรีซ" ประสบความสำเร็จ ก็อาจเป็นตัวอย่างที่ทำให้ประเทศในยุโรปนำมาเป็นข้ออ้างในการร้องขอความช่วยเหลือไม่สิ้นสุด... แต่แมร์เคลก็ไม่อาจต้านเสียงเรียกร้องของผู้นำคนอื่นๆในสหภาพยุโรปที่กรอกหูอยู่ทุกวันว่า หากยุโรปไม่อุ้มกรีซ และปล่อยให้ปัญหาลุกลามจนกลายเป็น Domino Effect ก็อาจทำให้ทั่วโลกประณามว่าต้นตอการเกิดวิกฤตการณ์การเงินโลกรอบใหม่มาจากยุโรป และผลของการใจอ่อนของแมร์เคลครั้งนี้ ทำให้พรรคคริสเตียน เดโมเครติก ยูเนียน (ซีดียู) ของเธอต้องสูญเสียคะแนนนิยมในการเลือกตั้งท้องถิ่นในรัฐนอร์ทไรน์-เวสต์ฟาเลีย ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดในเยอรมนี เนื่องจากประชาชนไม่พอใจที่รัฐบาลนำเงินภาษีราษฎรไปช่วยประเทศมือเติบอย่างกรีซ ... เรียกว่างานนี้ทำให้พรรคซีดียู เสียรังวัดไปเลยทีเดียว!

นักวิเคราะห์หลายคนไม่ปักใจเชื่อว่า เงินกู้จากไอเอ็มเอฟจะเป็นยาวิเศษที่สามารถกำราบปัญหาเศรษฐกิจและการคลังของกรีซได้ บางคนมองว่า กรีซไม่ต่างอะไรกับ เลห์แมน บราเธอร์ส ในโลกของภาครัฐ แพคเกจเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์เป็นเงินก้อนใหญ่ก็จริง แต่ก็อาจต่อลมหายใจให้กับกรีซไปได้สักระยะเท่านั้น เรื่องนี้ศาสตราจารย์ นูเรียล รูบินี ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก แสดงความเห็นผ่านหนังสือพิมพ์ยูเอส ทูเดย์ ว่า ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซไม่ต่างจาก "ระเบิดลูกใหญ่" ในมือไอเอ็มเอฟ ที่อาจบอมบ์ใส่หลายประเทศในยุโรป วันนี้เป็นกรีซ พรุ่งนี้อาจเป็นสเปน โปรตุเกส ไอซ์แลนด์ หรือ ไอร์แลนด์ ... ด้านนายอันตอน เบอร์เนอร์ ประธานสมาคมผู้ส่งออกของเยอรมนีเชื่อว่า กรีซจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ในที่สุด ขึ้นอยู่กับว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น เงินกู้จากไอเอ็มเอฟและอียูมีมูลค่ามหาศาลก็จริง แต่สถานะการคลังที่ติดลบจะทำให้กรีซต้องยื่นขอพักชำระหนี้สาธารณะ และไปสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ เมื่อวันนั้นมาถึง ผู้ถือพันธบัตรของรัฐบาลกรีซจะได้ไถ่ถอนเงินคืนแบบไม่เต็มจำนวน ด้วยเหตุนี้ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ จึงประกาศลดความน่าเชื่อพันธบัตรของกรีซลงสู่ระดับไม่น่าลงทุน หรือ ระดับขยะ (junk status) แต่เอสแอนด์พี และบริษัทจัดอันดับเครดิตรายอื่นๆของสหรัฐก็ตกเป็นจำเลยอีกครั้ง เมื่อสหภาพยุโรปออกมาตอบโต้อย่างแข็งกร้าวว่า "สวัสดิภาพของยุโรปไม่ได้ขึ้นอยู่กับบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ" เท่านั้นยังไม่พอ ผู้นำบางคนถึงขนาดเรียกร้องให้สภาพยุโรปจัดตั้งบริษัทจัดอันดับเครดิตภายในกลุ่มเอง

ความไม่เชื่อมั่นในมาตรการกู้วิกฤตกรีซเริ่มสะท้อนให้เห็นเมื่อตลาดหุ้นทั่วภูมิภาคเอเชียอ่อนตัวลงเมื่อวานนี้ โดยตลาดหุ้นฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ไต้หวัน ปิดในแดนลบอย่างถ้วนหน้า และภาพนี้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กอ่อนตัวลง 36.88 จุด หรือ 0.34% ปิดที่ 10,748.26 จด เมื่อคืนนี้ (11 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนทุบขายหุ้นทิ้งเพราะไม่เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถดับไฟกรีซไม่ให้ลุกลามไปทั่วยุโรปได้ ... เมื่อไม่นานมานี้ชาวยุโรปต่างพากันคาดหวังว่า ยามที่ลมฝนตามฤดูกาลพัดมา หมอกควันจากภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งไอย์ยาฟยัลลาโยกูล จะเจือจางลง และเปิดน่านฟ้ายุโรปให้สดใสขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการบิน ค้าปลีก ท่องเที่ยว และธุรกิจอื่นๆ ก็จะกลับมาประกอบธุรกิจกันอย่างคึกคึกอีกครั้ง แต่วิกฤติหนี้กรีซได้บดบังความฝันของชาวยุโรปแทบจะหมดสิ้น เหลือไว้แต่บทเรียนราคาแพงลิ่วที่ไม่เพียงแต่กรีซต้องเรียนรู้เท่านั้น แต่รวมถึงชาวยุโรปทั้งทวีปด้วย

วอร์เรน บัฟเฟตต์ กล่าวว่า "Risk comes from not knowing what you're doing" ความเสี่ยงเกิดจากการไม่รู้ว่าคุณกำลังทำอะไร ... วลีท่อนนี้สะท้อนให้เห็นว่า ปราชญ์แห่งการลงทุนผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่าครึ่งทศวรรษอย่างบัฟเฟตต์จะไม่ยอมเอาตัวเองและอาณาจักรเบิร์กเชียร์ แฮทธาเวย์ ที่เขาปั้นมากับมือ ให้ตกอยู่ในความเสี่ยง หรือขาดสติในการลงทุนจนนำไปสู่การเป็นหนี้ล้นพ้นตัว

คำฮิตติดปากของคนในยุคม็อบหลายสี มักจะพ่วงชื่อคนดังๆเอาไว้เพื่อสะท้อนเอกลักษณ์ของผู้ที่ถูกกล่าวถึง คอลัมน์ In Focus ก็ขอจบลงแบบไม่ตกเทรนด์ ตรงนี้ว่า ... ถ้าอยากรวยก็ต้องขยันทำงานและอย่ากระโจนเข้าไปหาความเสี่ยง อนาคตจะได้ "บัฟเฟตต์" และอย่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมากนัก เดี๋ยวจะ กรีซ !!!


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ