โอบามาสายตรงถึงนายกฯสเปน กดดันให้ดำเนินการขั้นเฉียบขาดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 12, 2010 13:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐ ได้โทรศัพท์ถึงนายกรัฐมนตรี โฆเซ่ หลุยซ์ โรดริเกซ ซาปาเตโร เมื่อวานนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ท่ามกลางความกังวลที่ว่าปัญหาหนี้สินที่มีชนวนมาจากกรีซอาจลุกลามไปทั่วภูมิภาคยุโรปและฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์เปิดเผยว่า ผู้นำทั้งสองได้พูดคุยกันถึงความสำคัญของสเปนในการดำเนินมาตรการขั้นเฉียบขาด ในฐานะที่เป็นความพยายามส่วนหนึ่งของยุโรปในการสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจของภูมิภาคและสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาด

นอกจากนี้ ทำเนียบขาวยังระบุด้วยว่า โอบามาได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการบรรเทาผลกระทบของวิกฤตหนี้ยุโรปที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ สเปน ซึ่งทำหน้าที่ประธานสหภาพยุโรป (อียู) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 กำลังถูกกดดันจากอียูให้ดำเนินการรวดเร็วกว่านี้ในการลดการกู้ยืม ด้วยการใช้มาตรการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการหั่นรายจ่าย และการขึ้นภาษี

โดยรัฐบาลสเปนเตรียมที่จะเปิดเผยรายละเอียดของแผนการลดรายจ่ายของรัฐบาลในวันนี้ หลังจากที่เมื่อวันจันทร์ สเปนได้ประกาศเป้าหมายที่จะลดการกู้ยืมต่อปีลง 4.7% ของจีดีพีภายในสิ้นปี 2554

ผู้สื่อข่าวของบีบีซีรายงานว่า สเปนได้เคยอนุมัติมาตรการลดค่าใช้จ่ายขั้นเฉียบขาดมาแล้วเมื่อเดือนมกราคม แต่กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้น และขณะนี้ สเปนกำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากคณะกรรมการยุโรปให้นำมาตรการดังกล่าวมาใช้ และขู่ว่าอาจมีการลงโทษ หากไม่ยอมปฏิบัติ

สหภาพยุโรปต้องการเห็นประเทศในภูมิภาคที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอ่อนแอ ซึ่งรวมถึง สเปน โปรตุเกส และกรีซ ใช้มาตรการลดการใช้จ่ายที่เฉียบขาดมากกว่าเดิม

เมื่อวันอาทิตย์ อียูได้เสนอมาตรการมูลค่า 7.50 แสนล้านยูโร (9.52 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อป้องกันวิกฤตหนี้กรีซลุกลามไปยังประเทศอื่นๆในยูโรโซนที่มีระดับหนี้สาธารณะสูงเช่นเดียวกัน อย่าง สเปน และ โปรตุเกส ตลอดจนเพื่อรักษาเสถียรภาพให้สกุลเงินยูโร

มาตรการช่วยเหลือดังกล่าวประกอบด้วยเงินกู้ 4.4 แสนล้านยูโรโดยรัฐบาลของประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร 16 ประเทศ เงินกู้ 6 หมื่นล้านยูโรจากงบประมาณของอียู และ 2.5 แสนล้านยูโรจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

ข้อตกลงดังกล่าวได้รับการขานรับและส่งผลให้ตลาดการเงินทะยานขึ้นอย่างร้อนแรงในวันจันทร์ ก่อนที่จะกลับมาล่าถอยลงอีกครั้งในวันอังคาร เนื่องจากนักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจถึงประสิทธิภาพของกลไกช่วยเหลือนี้ และวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปที่เลวร้ายลงเนื่องจากวิกฤตหนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ