รมว.คมนาคม แนะนำให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ยึดหลักมนุษยธรรมในการเจรจากับประชาชนที่บุกรุกพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเป็นการเฉพาะ ไม่ควรใช้มาตรการทางด้านกฎหมายเพียงอย่างเดียว
"การโยกย้ายผู้บุกรุกต้องยึดหลักมนุษยธรรม โดยการรถไฟฯ ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลหรือเจรจากับผู้บุกรุก ไม่ควรใช้มาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว" นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม กล่าว
โดยโครงการดังกล่าวมีระยะทาง 15 กิโลเมตร ส่วนโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตรนั้น รฟท.อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาร่างทีโออาร์จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(ไจก้า) ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ ซึ่งตนเองได้สั่งการให้ รฟท.เร่งรัดการโยกย้ายผู้บุกรุกในโครงการนี้เช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างแก่ผู้รับเหมา
ด้านนายจเร รุ่งฐานีย์ รองวิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง รฟท. เปิดเผยว่า ในเดือน พ.ค.นี้ ไจก้าจะแจ้งผลการพิจารณาร่างทีโออาร์ที่จะใช้ในการคัดเลือกผู้รับเหมางานโยธาโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงมายัง รฟท. หลังจากนั้น รฟท.จะประกาศประกวดราคางานก่อสร้างทั้ง 3 สัญญา คือ งานโยธา 2 สัญญา และงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล( E&M) หรือสัญญา 3
อย่างไรก็ตาม คาดว่า งานแต่ละสัญญาจะมีผู้สนใจเข้าร่วมการคัดเลือกอย่างน้อยสัญญาละ 5-6 ราย แม้ในปัจจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) จะอยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ และอยู่ระหว่างขั้นตอนการประกวดราคาโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ แต่ รฟท.มั่นใจว่าโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงจะได้รับความสนใจจากผู้รับเหมาเช่นกัน
ส่วนหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้รับเหมานั้น รฟท.มีเงื่อนไขชัดเจนว่าจะพิจารณาศักยภาพของผู้รับเหมาแต่ละรายอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นสภาพคล่องทางการเงินหรือประสบการณ์ในการทำงาน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าผู้รับเหมาที่ได้รับการคัดเลือกจะทำงานได้สำเร็จตามเป้าหมาย แม้ผู้รับเหมารายนั้นจะได้รับงานก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นมาแล้วก็ตาม