นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน เม.ย.53 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 67.2 ลดลงจากเดือนมี.ค.53 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 69.8 ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 66.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 91.2
ปัจจัยลบที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ได้แก่ เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองจากการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ส่งผลให้มีทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้ส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อผู้บริโภค, ประชาชนขาดความมั่นใจทางการเมือง และแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต พร้อมกันนี้ยังกังวลต่อความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาวิกฤติหนี้ของกรีซ
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ปรับประมาณการณ์ตัวเลข GDP ในปีนี้ขึ้นไปเป็น 4.3-5.8% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ในช่วง 3.3-5.3%, คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.25%, การส่งออกของไทยในเดือนมี.ค.53 ขยายตัวถึง 41%, เม็ดเงินจากโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งเริ่มหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 32.28 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนเม.ย.53
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนเม.ย. ปรับตัวลดลงมีผลสำคัญจากปัจจัยการเมืองในประเทศ ซึ่งหากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงยังยืดเยื้อ ก็จะยิ่งทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะการซื้อสินค้าคงทน เช่น บ้าน, รถยนต์ รวมถึงการท่องเที่ยว