นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยถึงการจัดงานซับคอนไทยแลนด์ 2010 (SUBCON Thailand 2010) ระหว่างวันที่ 13—15 พ.ค. 2553 ว่า คาดว่าจะเกิดการซื้อขายชิ้นส่วนเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท และยังช่วยเสริมสร้างบรรยากาศและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนมากยิ่งขึ้น ประกอบกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และโอกาสในการขยายตลาดชิ้นส่วนของไทยในต่างประเทศ จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟต้า ทำให้แนวโน้มการลงทุนของอุตสาหกรรมสนับสนุนน่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การจัดงานซับคอนไทยแลนด์ 2010 มีบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนมาออกบูธแสดงสินค้าจำนวน 250 บูธ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับจำนวนบูธในปีที่ผ่านมาซึ่งมี 189 บูธ ขณะที่บริษัทชั้นนำและคณะนักธุรกิจจากต่างประเทศก็ตอบรับเข้าร่วมงานมากกว่าทุกครั้ง ทั้งนักลงทุนจากญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส อังกฤษ ออสเตรเลีย อิตาลี เวียดนาม และมาเลเซีย รวมประมาณ 80 ราย จึงคาดว่าจะมีการจับคู่เจรจาธุรกิจกับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยได้ไม่น้อยกว่า 2,500 คู่
สำหรับบริษัทชั้นนำหลายรายที่ต้องการหาผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ และจะเข้าร่วมงานซับคอนไทยแลนด์ 2010 กระจายอยู่ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ บีเอ็มดับเบิลยู เดมเลอร์ไคร์สเลอร์ เมอร์เซเดสเบนซ์ โรเบิร์ท บอช ซัมมิท ออร์โต้ ซีท เอ็นอาร์บีแบริ่ง และ โกบอล ฟลีท เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสัมมนา ตลอดทั้ง 3 วัน โดยหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน บทบาทบีโอไอกับการส่งเสริมเอสเอ็มอีไทย การเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันและสร้างทางเลือกใหม่ กลยุทธ์การขอสินเชื่อกับเอสเอ็มอีแบงก์ ยุทธการปั้นเอสเอ็มอีไทยบุกอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสไดร์ และกลยุทธ์เพิ่มโอกาสแก่เอสเอ็มอีไทยให้ก้าวไกลสู่อาเซียน
โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน จำนวน 108 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 25,646 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนโลหะและเครื่องจักร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนจากยางและพลาสติก โดยเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2552 ซึ่งมีจำนวน 73 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 7,666 ล้านบาท
"ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมสนับสนุนช่วยสร้างมูลค่าในการเป็นแหล่งน่าลงทุนให้กับประเทศไทย เพราะบริษัทผู้ผลิตสินค้าชั้นนำของโลกจะย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่มีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนที่เข้มแข็งอุตสาหกรรมสนับสนุนจึงเป็นหัวใจสำคัญต่อการเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย"เลขาธิการบีโอไอกล่าว