กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า ประเทศพัฒนาแล้วกำลังเผชิญความจำเป็นเร่งด่วนในการลดยอดขาดดุลงบประมาณของตน เนื่องจากผลกระทบรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยคำเตือนของไอเอ็มเอฟมีขึ้นในขณะที่ประเทศในยุโรปกำลังเผชิญกับความวุ่นวายในสังคม เนื่องจากประชาชนไม่พอใจกับมาตรการรัดเข็มขัดที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อลดรายจ่ายจำนวนมหาศาล
ไอเอ็มเอฟระบุในรายงาน Fiscal Monitor ล่าสุดว่า ในขณะที่เศรษฐกิจกำลังค่อยๆฟื้นตัวขึ้น บัดนี้ ถึงเวลาเร่งด่วนที่ผู้กำหนดนโยบายจะเริ่มใช้มาตรการเพื่อรับประกันว่ายอดขาดดุลและหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นอันสืบเนื่องมาจากวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจ จะไม่นำไปสู่ปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการคลังของรัฐบาล
ข้อมูลของไอเอ็มเอฟเผยให้เห็นว่า การขาดดุลของประเทศพัฒนาแล้วปรับตัวขึ้น 7.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ระหว่างปี 2550 - 2553 ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และปัจจัยผันแปรต่างๆ
โดย 2 ใน 3 ของประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว จำเป็นต้องปรับลดยอดขาดดุลลงกว่า 5% ของจีดีพี ขณะที่ 1 ใน 5 ต้องลดลงถึง 8% ของจีดีพี ถ้าหนี้สาธารณะไม่ลดลงสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตการเงิน อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วอาจลดลงกว่า 0.5% ต่อปี ซึ่งมากพอที่จะส่งผลกระทบรุนแรงหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อนานหลายปี