นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์" ว่า จากสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ที่มีเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้นและสถานการณ์การชุมนุมได้ยืดเยื้อเกือบ 3 เดือนแล้ว ประเมินว่าได้ส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตศรษฐกิจ(GDP)ในปีนี้มากกว่า 0.5% แล้ว แต่ยังกระทบไม่ถึง 1% เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นเลวร้ายสุด
"ตอนนี้การเมืองส่งผลต่อเศรษฐกิจเลยระดับกลางที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะกระทบแค่ 0.2-0.5% ตอนนี้คาดว่ามากกว่า 0.5% เพราะเหตุการณ์รุนแรงขึ้น และยืดเยื้อเกือบ 3 เดือนแล้ว แต่จะกระทบแค่ไหนมากน้อยแค่ไหนต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เพราะตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นเลวร้ายสุด กรณีที่การเมืองยืดเยื้อเกิน 3 เดือนและไม่มีรัฐบาลบริหารประเทศ" นายเอกนิติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สศค.ยังคงเป้าหมายอัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 4-5% ตามเดิม แต่จะมีการทบทวนประมาณการอีกครั้งในเดือน มิ.ย.53 และยอมรับว่าปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจอย่างน่าเป็นห่วง จากเดิมที่มองว่าจะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ขณะนี้ภาคการท่องเที่ยวถูกผลกระทบอย่างรุนแรงชัดเจน จนทำให้ประเทศต่างๆ ต้องประกาศห้ามประชากรเดินทางเข้าประเทศไทย นอกจากนี้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในและต่างประเทศลดลง จากภาพเหตุการณ์ต่างๆ ที่สื่อออกไปทั่วโลก ซึ่งทำให้การลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในประเทศไทยต้องชะลอลงอย่างชัดเจน ขณะที่ความเชื่อมั่นในประเทศที่ลดลง เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้การใช้จ่ายของประชาชนลดลง เห็นได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลงในดือน เม.ย. เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า
"แม้เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยหนุนจากการส่งออก ซึ่งได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวค่อนข้างมาก แต่การลงทุนที่หดตัวมากทำให้เราเสียโอกาส เพราะตอนนี้ประเทศในภูมิภาคเติบโตมาก แต่การที่เรามีปัญหา อาจทำให้ไปดึงการเติบโตของอาเซียนได้" นายเอกนิติ กล่าว
นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า ยังมีความเป็นห่วงการปรับลดเครดิตของสถาบันจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตรียมเดินทางเข้ามาเก็บข้อมูลของไทยในวันที่ 21 พ.ค.นี้ และมูดี้ส์ อินเวสเตอร์เซอร์วิส ได้เลื่อนการเก็บข้อมูลจาก 20 พ.ค. เป็น 1 มิ.ย.53 ซึ่งไม่แน่ใจว่าทั้งสองสถาบันจะเลื่อนการเข้าเก็บข้อมูลทางเศรษฐกิจของไทยอีกหรือไม่