วิจัยกสิกรฯชี้พิษการเมืองฉุดศก.ไทย Q2 หดตัวจาก Q1 คาดทั้งปีโต 2.6-4.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 18, 2010 11:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า จากเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.จนถึงขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างมากจนทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่งต้องสะดุดลง ปัญหาดังกล่าวจะฉุดรั้งเศรษฐกิจไตรมาส 2/2553 ให้ถดถอยลงจากไตรมาสก่อนหน้า (Quarter-on-Quarter) ซึ่งจะเป็นการกลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกนับจากที่ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2552

สำหรับอัตราการขยายตัวของจีดีพีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) คาดว่า แม้จะมีผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปีก่อน ที่จะทำให้จีดีพีในไตรมาสที่ 2/2552 ยังขยายตัวเป็นบวกได้ แต่คงเป็นทิศทางที่ชะลอลงอย่างมากจากที่ขยายตัวสูงในไตรมาสก่อนหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่ 1/2553 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะมีการรายงานในวันที่ 24 พ.ค.นี้ อาจขยายตัวสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 8.0-9.0 (YoY) โดยมีความเป็นไปได้ว่าอาจสูงถึงระดับร้อยละ 10 ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่สูงสุดในรอบกว่า 14 ปี โดยเศรษฐกิจมีการขยายตัวสูงในทุกด้าน ทั้งการส่งออก การผลิตในภาคอุตสาหกรรม การบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว ขณะที่ผลกระทบจากปัจจัยทางการเมืองในช่วงเดือนมีนาคมยังมีค่อนข้างน้อย

สำหรับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2553 นั้น ไม่เพียงแต่ผลกระทบโดยตรงที่มีต่อธุรกิจโรงแรม ค้าปลีก และร้านค้าในย่านราชประสงค์ที่เป็นพื้นที่หลักของการชุมนุม รวมทั้งธุรกิจท่องเที่ยวในภาพรวมเท่านั้น ภาวะความไม่แน่นอนทางการเมืองยังบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภายในประเทศในภาพรวมด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ นอกเหนือจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแล้ว ทิศทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2553 ยังต้องเผชิญความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจประสบกับภาวะชะลอตัว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ทางการเมืองและปัจจัยภายนอกประเทศไว้ 4 กรณี

กรณีดีที่สุด ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองสงบลงภายในไตรมาสที่ 2/2553 และเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวตามคาด จีดีพีในปี 2553 อาจจะขยายตัวร้อยละ 5.7 โดยหากการชุมนุมและเหตุการณ์รุนแรงในบ้านเมืองยุติลงอย่างแท้จริงได้โดยเร็ว เช่น ด้วยแนวทางการเจรจา หรือมีการดำเนินการตามโรดแม็บแผนปรองดองที่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายต่างๆ รวมทั้งไม่กระทบตารางเวลาการประกาศใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2554

กรณีที่ดี ปัญหาการเมืองคลี่คลายลงภายในไตรมาสที่ 2/2553 แต่การเยียวยาผลกระทบอาจต้องอาศัยระยะเวลา ขณะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่ำกว่าคาด จีดีพีในปี 2553 อาจจะขยายตัวร้อยละ 4.5 โดยหากการชุมนุมยุติลงโดยเร็วแต่ภาพเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้การฟื้นฟูกิจกรรมในภาคการท่องเที่ยว การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงไตรมาสที่ 3/2553 และฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี

กรณีพื้นฐาน ปัญหาการเมืองยืดเยื้อตลอดทั้งปี แต่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวตามคาด จีดีพีในปี 2553 อาจจะขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยหากสถานการณ์ทางการเมือง ยังคงมีความรุนแรงและยืดเยื้อไปตลอดช่วงที่เหลือของปี จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุนในประเทศ ทำให้สูญเสียโอกาสในการฟื้นฟูธุรกิจในช่วงฤดูกาลที่จะมีกิจกรรมการท่องเที่ยวและการจับจ่ายคึกคักที่สุดในไตรมาสสุดท้ายของปี

กรณีเลวร้ายที่สุด ปัญหาการเมืองยืดเยื้อตลอดทั้งปีและเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่ำกว่าคาด จีดีพีในปี 2553 อาจจะขยายตัวร้อยละ 2.6 โดยเศรษฐกิจภายในประเทศจะถูกกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคงมีความรุนแรงและยืดเยื้อตลอดช่วงที่เหลือของปี ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ออกมาดีอย่างที่คาดการณ์ไว้ ทำให้แรงส่งจากภาคการส่งออกไม่เพียงพอที่จะชดเชยกับความต้องการภายในประเทศที่ลดลง

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัจจัยทางการเมืองอาจอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5-2.3 ของจีดีพี หรือคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียประมาณ 53,000-230,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีปัจจัยลบทางการเมืองซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีศักยภาพที่จะขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 6.2 ทั้งนี้ความสูญเสียที่ประเมินล่าสุดนี้นับเป็นระดับที่สูงกว่าคาดการณ์เดิมก่อนหน้าเหตุการณ์ 10 เม.ย. ที่เคยประเมินความสูญเสียไว้อยู่ระหว่างร้อยละ 0.2-1.5 เนื่องจากเหตุการณ์มีความรุนแรงและยาวนานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

โดยภาคเศรษฐกิจที่เสียหายหนักที่สุดคือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งในกรณีรุนแรงอาจสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสูงถึงประมาณ 80,000 ล้านบาท เนื่องจากขณะนี้ได้มีอย่างน้อย 47 ประเทศทั่วโลกที่มีการประกาศเตือนพลเมืองเกี่ยวกับการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย สำหรับความเสียหายอื่นๆ เป็นผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมทั้งการใช้จ่ายเม็ดเงินงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งยิ่งหากปัญหายืดเยื้อ ผลกระทบก็จะยิ่งแผ่ขยายไปสู่ภาคเศรษฐกิจต่างๆ ในวงกว้างมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2553 โดยภาพรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยน่าที่จะอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 2.6-4.5 ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ประเมินไว้เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ระดับร้อยละ 3.5-6.0 โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่คาดว่าน่าจะขยายตัวสูงประมาณร้อยละ 17.0-24.0 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการขยายการส่งออกภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี

นอกจากนี้ยังมีผลของการเติบโตในระดับสูงในไตรมาสแรก ซึ่งจะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยเฉลี่ยทั้งปียังคงเป็นบวกได้ แม้ว่าผลกระทบทางการเมืองที่รุนแรงจะส่งผลกดดันให้มูลค่าจีดีพีในไตรมาสที่ 2/2553 หดตัวลงอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก (QoQ) และอาจหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสถัดไปด้วย หากปัญหาทางการเมืองยังคงยืดเยื้อตลอดทั้งปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ