การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) คาดความต้องการใช้ไฟฟ้าในเดือน เม.ย.จะปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี ตามภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และทั้งปีจะเติบโตเพิ่มขึ้น 4-5% จากปีก่อน
"พีคล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม อยู่ที่ 7,651 เมกะวัตต์ และคาดว่าเดือนเมษายนนี้ พีคจะปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี อยู่ที่ 7,800-7,900 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศจะมีการเติบโต 4-5 %" นายรณชิต รัตนารามิก รองผู้ว่าการบริหารจัดการระบบจำหน่าย กฟน.กล่าว
โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มี.ค.) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็น 10,890 ล้านหน่วย ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าในทุกเซคเตอร์ ทั้งภาคครัวเรือน อุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และส่วนราชการ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10-20% รวมทั้งปัญหาทางการเมืองไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น
รองผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า สำหรับยอดขอจดทะเบียนมิเตอร์ไฟฟ้าในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่เดือนละ 10,000 ราย เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ช่วงปลายปีที่ผ่านมามียอดขอมิเตอร์อยู่ที่เดือนละ 6,000-7,000 รายเท่านั้น เนื่องจากเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และผลจากมาตรการลดภาษีอสังหาริมทรัพย์ โดยส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัย และภาคธุรกิจ
ทั้งนี้ กฟน.ได้พัฒนาระบบจ่ายไฟฟ้า ทั้งระบบสถานีย่อย สายส่ง เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเตรียมงบประมาณ 70,000 ล้านบาท ก่อสร้างอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดินขนาด 230 กิโลวัตต์ ตามแผน 15 ปี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจ่ายไฟฟ้า และรองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผน