สภาพัฒน์ ประเมินผลกระทบเหตุรุนแรงช่วง เม.ย.-พ.ค.ฉุดจีดีพีปีนี้ 1.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 24, 2010 10:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ประเมินผลกระทบจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.53 ส่งผลให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวลดลง 1.5% ซึ่งหากไม่เกิดเหตุดังกล่าวจะทำให้จีดีพีปีนี้มีโอกาสขยายตัวได้ถึง 6-7% โดยสภาพัฒน์จะปรับประมาณตัวเลขจีดีพีปี 53 ในการแถลงข่าวครั้งต่อไปจากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 3.5-4.5%

สำหรับจีดีพีในไตรมาส 2/53 คาดว่าจะยังไม่ลดลงถึงขั้นติดลบ แต่คงเติบโตไม่มาก เนื่องจากได้รับอานิสงน์จากการขยายตัวด้านการส่งออก แต่หากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงไตรมาส 3/53 ยังเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นอีกก็อาจจะส่งผลให้จีดีพีในช่วงดังกล่าวขยายตัวติดลบเป็นครั้งแรก และขยายตัวติดลบมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4/53

"วันนี้มองว่าจีดีพีไตรมาสสองยังไม่ติดลบ เนื่องจากได้ภาคการส่งออกมาช่วยพยุงไว้ แต่หากช่วงไตรมาสที่สามเหตุการณ์ยังไม่สงบ ยังมีปัญหาต่อเนื่อง เชื่อว่าไตรมาสที่สามจะเป็นไตรมาสแรกที่ติดลบ และจะติดลบมากขึ้นไปอีกในไตรมาสสี่" นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่ม นปช.เริ่มนัดชุมนุมใหญ่บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เมื่อวันที่ 12 มี.ค.เรื่อยมาจนถึงวันที่ 3 เม.ย.แกนนำฯ ได้ขยายพื้นที่มาปักหลักชุมนุมเพิ่มเติมที่บริเวณแยกราชประสงค์ และหลังเกิดเหตุปะทะที่สี่แยกคอกวัว แกนนำฯ ได้ประกาศยุบเวทีบริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศมารวมที่แยกราชประสงค์เพียงจุดเดียวตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย.จนถึงวันที่ 19 พ.ค.53 ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เข้าขอคืนพื้นที่สำเร็จ

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า หากรัฐบาลสามารถผลักดันมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่สำคัญ 4-5 ประการ ได้แก่ เร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้กลับมา, กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนโดยการอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนภาครัฐให้เป็นไปตามแผนงาน, สานต่อโครงการประกันรายได้ผลผลิตทางการเกษตร และเร่งฟื้นฟูและส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว พร้อมทั้งผลักดันกระบวนการสร้างความปรองดอง(โรดแมพ) เชื่อว่าจะช่วยให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวได้มากกว่า 3.5-4.5% และส่งผลดีไปยังไตรมาสที่สาม-สี่ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ