(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ ประเมินผลกระทบเหตุรุนแรงช่วง เม.ย.-พ.ค.ฉุดจีดีพีปีนี้ 1.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 24, 2010 11:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ประเมินผลกระทบจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.53 ส่งผลให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวลดลง 1.5% ซึ่งหากไม่เกิดเหตุดังกล่าวจะทำให้จีดีพีปีนี้มีโอกาสขยายตัวได้ถึง 6-7% โดยสภาพัฒน์จะปรับประมาณตัวเลขจีดีพีปี 53 ในการแถลงข่าวครั้งต่อไปจากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 3.5-4.5%

สำหรับจีดีพีในไตรมาส 2/53 คาดว่าจะยังไม่ลดลงถึงขั้นติดลบ แต่คงเติบโตไม่มาก เนื่องจากได้รับอานิสงน์จากการขยายตัวด้านการส่งออก แต่หากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงไตรมาส 3/53 ยังเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นอีกก็อาจจะส่งผลให้จีดีพีในช่วงดังกล่าวขยายตัวติดลบเป็นครั้งแรก และขยายตัวติดลบมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4/53

"วันนี้มองว่าจีดีพีไตรมาสสองยังไม่ติดลบ เนื่องจากได้ภาคการส่งออกมาช่วยพยุงไว้ แต่หากช่วงไตรมาสที่สามเหตุการณ์ยังไม่สงบ ยังมีปัญหาต่อเนื่อง เชื่อว่าไตรมาสที่สามจะเป็นไตรมาสแรกที่ติดลบ และจะติดลบมากขึ้นไปอีกในไตรมาสสี่" นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่ม นปช.เริ่มนัดชุมนุมใหญ่บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เมื่อวันที่ 12 มี.ค.เรื่อยมาจนถึงวันที่ 3 เม.ย.แกนนำฯ ได้ขยายพื้นที่มาปักหลักชุมนุมเพิ่มเติมที่บริเวณแยกราชประสงค์ และหลังเกิดเหตุปะทะที่สี่แยกคอกวัว แกนนำฯ ได้ประกาศยุบเวทีบริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศมารวมที่แยกราชประสงค์เพียงจุดเดียวตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย.จนถึงวันที่ 19 พ.ค.53 ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เข้าขอคืนพื้นที่สำเร็จ

นายอำพน กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงทีเหลือของปี มาจาก 3 ตัวแปรสำคัญ คือ ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การเมืองในประเทศ ที่กระทบต่อภาพพจน์ของประเทศอย่างรุนแรง และ ปัญหาภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มที่จะผันผวน

สำหรับข้อเสนอแนะของสภาพัฒน์เกี่ยวกับการบริหารเศรษฐกิจในปี 53 มองว่า รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับ 5 มาตรการ คือ หนึ่ง เร่งรัดการสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งการฟื้นฟูความเชื่อมั่น และภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ เพื่อจำกัดผลกระทบของเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี

สอง การดูแลป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากสถานการภัยแล้ง รวมทั้งรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรอย่างเหมาะสม ภายใต้ภาวะความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก,สาม การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสมดุล เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง

สี่ เร่งรัดลงทุนภายใต้แผนปฎิบัติการไทยเข้มแข็ง เพื่อชดเชยผลกระทบที่เกิดจาการลดลงของรายจ่ายภาครัฐ ภายใต้วงเงินงบประมาณปกติ และ ห้า การติดตามประเมินสถานการณ์ วิกฤติทางการคลังในกลุ่มประเทศยุโรป รวมทั้งการเตรียมรองรับผลกระทบจากความผันผวนจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนและค่าเงินที่เป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤติการดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ