ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB) รายงานว่า จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้น โดยวิเคราะห์ผลกระทบต่อบริโภคและการลงทุน พบว่า เหตุการณ์ทางการเมืองนอกสภาที่มีระยะเวลาต่อเนื่องหนึ่งไตรมาสจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ทั้งปีลดลง 1%
ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงไตรมาสที่เกิดเหตุการณ์นั้น GDP จะลดลง 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และยังจะปรับลดลง 1.7% ในไตรมาสถัดไป
นอกจากนี้ สามารถสังเกตได้อีกว่าผลกระทบทางการเมืองต่อเศรษฐกิจมีความรุนแรงจริงๆ เพียงสองไตรมาสแรกนับจากช่วงที่เกิดเหตุการณ์เท่านั้น ส่วนระยะเวลาหลังจากนั้นแทบไม่ได้รับผลกระทบ และหากพิจารณาลงไปในรายละเอียดยังพบอีกว่า การบริโภคของภาคเอกชน กับการลงทุนของภาคเอกชน ตอบสนองต่อเหตุการณ์ทางการเมืองไม่เท่ากัน โดยการลงทุนภาคเอกชนได้รับผลกระทบเชิงลบมากกว่าและนานกว่า
ดังนั้น จากที่การบริโภคภาคเอกชนมีสัดส่วนต่อการเติบต่อเศรษฐกิจถึง 55% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน มีสัดส่วนเพียง 16% ต่อ GDP จึงสอดคล้องกับสิ่งที่ศึกษาได้ข้างต้นต่อผลกระทบที่จะเกิดกับ GDP ทั้งปีที่กล่าวมาแล้ว
ทั้งนี้ แม้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือยังไม่ได้ลดอันดับเครดิตของประเทศลง เพราะไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเงิน แต่มุมมองเชิงลบที่ได้รับจากการไร้เสถียรภาพทางการเมือง อาจทำให้ไทยถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือได้ในที่สุด
ขณะที่ความตึงเครียดทางการเมืองที่เกิดขึ้น ไม่เพียงก่อให้เกิดต้นทุนมหาศาลต่อเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังมีต้นทุนที่ประเมินค่ามิได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิศักดิ์ศรี และการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ จึงหวังแต่เพียงว่าความสูญเสียจาก จำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายจะมีน้ำหนักพอที่จะทำให้การเผชิญหน้ายุติลงได้ และหันมาช่วยกันทำให้เศรษฐกิจและสังคมเดินหน้าไปอย่างมีคุณภาพ