คปภ.เผยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ไม่ได้ทำประกันภัยก่อการร้าย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 25, 2010 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดเผยว่า กรณีเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมบริเวณพื้นที่ราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียง ทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบครั้งนี้ ที่ได้รับรายงานมีการทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินไว้กับบริษัทประกันภัย จำนวน 30 บริษัท แต่มีการซื้อประกันภัยคุ้มครองภัยก่อการร้ายไว้เพียง 6 บริษัท ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินความเสียหาย ได้แก่

บริษัทที่ 1 - บมจ. ไทยเศรษฐกิจประกันภัย (TSI) รับประกันภัย บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) มูลค่า 3,500 ล้านบาท ซึ่งมีการประกันภัยต่อต่างประเทศ และขณะนี้ได้ส่งบริษัท McCalain ผู้สำรวจภัยรายใหญ่เข้าสำรวจความเสียหายแล้ว

บริษัทที่ 2 — บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันภัยห้างสรรพสินค้าเซน มูลค่า 3,300 ล้านบาท อยู่ระหว่างการประเมินมูลค่าความเสียหาย

บริษัทที่ 3 — บมจ. นวกิจประกันภัย (NKI) รับประกันภัยบริษัทโรงแรม เพรสซิเดนซ์ และทาวเวอร์ จำกัด มูลค่า 200 ล้านบาท

บริษัทที่ 4 — บริษัท สยามซิตี้ประกันภัย จำกัด รับประกันภัยธนาคาร นครหลวงไทย (SCIB) มูลค่า 60 ล้านบาท (5 ล้านบาท/สาขา)

บริษัทที่ 5 — บมจ. กรุงเทพประกันภัย (BKI) รับประกันภัยธนาคารกรุงเทพ (BBL) และสาขาทั่วประเทศ มูลค่า 200 ล้านบาท

บริษัทที่ 6 — บมจ. เมืองไทยประกันภัย (MTI) รับประกันภัยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

สำหรับการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก มีการทำประกันภัยไว้กับ 2 บริษัท ได้แก่

บริษัทที่ 1 - บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันภัยบมจ.เซ็นทรัล /ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ มูลค่า 6,147 ล้านบาท

บริษัทที่ 2 — บริษัท แอ๊กซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันภัยรายย่อยในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จำนวน 3 ราย คือ แฟชั่นสตูดิโอ มูลค่า 135 ล้านบาท ห้างจัสปาล มูลค่า 351 ล้านบาท และบริษัทเพียรเจริญจิวเวลรี่เฮ้าส์ จำกัด มูลค่า 120,000 บาท

3. ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ได้รับความเสียหาย ได้มีการทำประกันอัคคีภัย และประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน(IAR)ไว้ แต่ไม่ซื้อความคุ้มครองสำหรับภัยก่อการร้าย

ดังนั้น สำนักงาน คปภ.จึงได้ขอความร่วมมือกับสมาคมประกันวินาศภัย และบริษัทประกันวินาศภัย ให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย โดยพิจารณาเป็นรายๆไป โดยจะสำรวจความเสียหาย โดยเน้นกลุ่มรายย่อย(ทุนประกันภัยไม่เกิน 5 ล้านบาท)ก่อน ให้แล้วเสร็จในวันที่ 3 มิ.ย.53 เพื่อสรุปรวบรวมความเสียหายทั้งหมดภายในวันที่ 10 มิ.ย.53 เพื่อพิจารณาการให้ความช่วยเหลือ

ความช่วยเหลือจะพิจารณาเป็นรายๆไป โดยมีหลักเกณฑ์ให้บริษัทพิจารณาจำนวนผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายของแต่ละบริษัท ทั้งนี้ให้คำนึงถึงความสามารถและฐานะการเงินของบริษัทประกันภัยด้วย บริษัทจะเจรจากับบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศเพื่อขอความช่วยเหลือในกรณีที่มิได้ซื้อความคุ้มครองภัยก่อการร้าย ขอให้รัฐบาลใช้มาตรการทางภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับบริษัทประกันภัยในการ ให้ความช่วยเหลือดังกล่าว โดยสามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณเงินได้ เพื่อเสียภาษีประจำปี

ส่วนกรณีของการประกันชีวิต จากการสำรวจพบว่า ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีการทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันชีวิต จำนวน 9 บริษัท รวมทั้งสิ้น 17 กรมธรรม์ มูลค่าผลประโยชน์มรณกรรมรวม 2.3 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ