รัฐบาลอิตาลีได้อนุมัติมาตรการลดรายจ่ายมูลค่า 2.4 หมื่นล้านยูโร (2.9 หมื่นล้านดอลลาร์) สำหรับปี 2554 - 2555 โดยอิตาลีถือเป็นประเทศในกลุ่มยูโรรายล่าสุดที่ประกาศใช้มาตรการรัดเข็มขัดเพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณ หรือช่องว่างระหว่างรายรับและรายจ่ายของรัฐ ตามหลังกรีซ สเปน และโปรตุเกส ขณะที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ที่ไม่ได้ใช้เงินสกุลยูโร อย่าง อังกฤษและเดนมาร์กก็เพิ่งประกาศแผนการควบคุมการใช้จ่ายในสัปดาห์นี้เช่นกัน
สำหรับมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลอิตาลีนั้น รวมถึง การลดและระงับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการหรือลูกจ้างรัฐ การลดจำนวนข้าราชการ การระงับการจ้างพนักงานใหม่ นอกจากนี้ การใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นจะได้รับผลกระทบเช่นกัน ขณะที่จะมีการปราบปรามผู้ที่หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีด้วย
อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้กับแรงงานอิตาลีเช่นเดียวกับในหลายประเทศที่ใช้มาตรการลักษณะเดียวกันนี้ โดยสถาบันฝึกสอนวิชาชีพ Isfol ได้จัดการประท้วงต่อต้านมาตรการดังกล่าวขึ้นที่สำนักงานใหญ่ในกรุงโรม นอกจากนี้ มาตรการซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลยังต้องฝ่าฟันกระแสคัดค้านจากสมาชิกรัฐสภาบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากมองว่า การลดรายจ่ายมุ่งเน้นไปที่แรงงานมากจนเกินไป
ทั้งนี้ การลดรายจ่ายมูลค่า 2.4 หมื่นล้านยูโรดังกล่าวจะคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 1.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของอิตาลี ขณะที่รัฐบาลอิตาลีกำลังพยายามที่จะลดตัวเลขขาดดุลงบประมาณให้เหลือไม่ถึง 3% ของจีดีพีภายในปี 2555 จากระดับ 5.3% ในปัจจุบัน เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และป้องกันไม่ให้สถานการณ์ลุกลามดังเช่นที่เกิดกับกรีซ
โดยความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้กรีซกำลังคืบคลานไปสู่ประเทศร่วมกลุ่มยูโรอย่าง สเปน โปรตุเกส และอิตาลี ที่มีสถานะการคลังอ่อนแอเช่นกัน