(เพิ่มเติม) ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เม.ย.53 ที่ 99.3 ลดลงจาก มี.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 26, 2010 11:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนเมษายน 2553 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 99.3 ปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคม 2553 ที่ระดับ 101.6 ซึ่งปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

ทั้งนี้ เป็นการปรับลดลงในทุกองค์ประกอบดัชนีทั้งยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ซึ่งมีสาเหตุมาจากกรณีความขัดแย้งทางการเมือง การชุมนุมย่านราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการท่องเที่ยว ส่งผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับช่วงเดือนเมษายนมีวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ติดต่อกันหลายวันทำให้ปริมาณการผลิตลดลงด้วย

นอกจากนี้ ระดับราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมอาหารทะเล เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ และการปรับตัวสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบหลายประเภท ก็ทำให้ความเชื่อมั่นในต้นทุนประกอบการลดลง

สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากระดับ 107.2 ในเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 107.4 ในเดือนเมษายน เนื่องจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า ยอดคำสั่งซื้อรวม ยอดขายรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากยอดซื้อและยอดขายคาดการณ์จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการไม่มั่นใจสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ แต่เชื่อว่าสถานการณ์การส่งออกจะยังมีแนวโน้มที่ดีในอนาคต

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของกิจการ ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อมปรับเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวลดลงทั้ง 2 ขนาด โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อมปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 90.5 ในเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 94.0 ในเดือนเมษายน แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากเดือนมีนาคม อุตสาหกรรมขนาดย่อมปรับตัวลงแรงนับจากเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม โดยในเดือนนี้เริ่มปรับตัวสูงขึ้น อุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ แกรนิตและหินอ่อน สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดำเนินกิจการ พบว่าผู้ประกอบการมีความกังวลในทุกประเด็นเพิ่มขึ้นโดยมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองมากที่สุดโดยมีผู้ประกอบการถึงร้อยละ 76.0 ที่ตอบว่าได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง รองลงมาคือเรื่องสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผู้ประกอบการกลับมากังวลในปัจจัยนี้อีกครั้ง ทั้งนี้จากความกังวลว่าปัญหาหนี้ในประเทศกรีซอาจลุกลามกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคได้ ปัจจัยอื่นๆที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นคือ ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย ตามลำดับ

นายสันติ กล่าวว่า ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกัน คือ ให้รัฐบาลควรควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก และเร่งแก้ปัญหาทางการเมืองเพื่อไม่ให้มีการชุมนุมยืดเยื้อ ควรสนับสนุนการฝึกอบรมช่างฝีมือภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพแรงงานไทยและเพื่อให้มีแรงงานเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น สนับสนุนการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่ม SME ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง และเห็นว่าภาครัฐควรมีนโยบายทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศในขณะนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ