(เพิ่มเติม) คลัง ประเมินชุมนุมการเมือง-เหตุจลาจลกระทบ GDP ปี 53 ราว 1.1%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 26, 2010 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงการคลัง ประเมินว่าเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองและเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยในปีนี้ประมาณ 1.1% แต่เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงส่ง(momentum)ที่ดีจากจีดีพีในไตรมาส 1/53 ที่เติบโตได้สูงมาก และยังต้องพิจารณาโอกาสที่การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับมาในช่วงปลายปี

ดังนั้น ในขณะนี้กระทรวงการคลังยังคงคาดการณ์ GDP ปีนี้เติบโตในช่วง 4.0-5.0% และจะมีการพิจารณาทบทวนคาดการณ์ตามกำหนดปกติในช่วงปลายเดือน มิ.ย.53

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าว่า สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/53 โดย สศค.จะได้นำเอาปัจจัยเชิงบวกจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปัจจัยเชิงลบด้านการเมืองมาปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยเพื่อแถลงต่อสาธารณชน ในวันที่ 29 มิ.ย.53 ต่อไป

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือน เม.ย.53 ยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องโดยได้รับอานิสงค์จากการขยายตัวที่ดีของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับแรงส่งจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/53 ในระดับสูงที่ 12% แต่สถานการณ์ทางการเมืองส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนที่ 0.2% ต่อปี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและของภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2553 ปรับตัวลดลงเช่นกัน

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กล่าวว่า ดัชนีเศรษฐกิจไทยในเดือน เม.ย.53 บ่งชี้ถึงการขยายตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งจากการส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศ แต่มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากผลกระทบของสถานการณ์ทางการเมือง ประกอบกับ ปัญหาหนี้สินของกรีซ ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะลุกลามแค่ไหน ทำให้เงินยูโรอ่อนค่าและเงินบาทแข็งค่า ซึ่งอาจเป็นปัญหาต่อภาคการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกที่การส่งออกในเดือน เม.ย.ยังมีอัตราเติบโตสูงถึง 35.2% และ momentum เศรษฐกิจไตรมาส 1/53 ที่เติบโต 12% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุน ดัชนีภาคอุตสาหกรรมปรับสูงขึ้น รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนยังมีแรงซื้อต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภาครัฐผ่านโครงการไทยเข้มแข็งยังมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะจากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูงที่ 35.2% ต่อปี แต่หดตัว 2.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือน เม.ย.53 ขยายตัวที่ 21% ต่อปี แต่หดตัว 3.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และการการลงทุนภาคเอกชนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวในระดับสูงที่ 39.4% ต่อปี แต่หดตัว 4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ