นายอรรถชัย บูรกรรมโกวิท ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา เปิดเผยว่า คณะกรรมการเฉพาะกิจช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ซึ่งมีปลัดกระทรวงท่องเที่ยวเป็นประธานจะมีการประชุมในวันที่ 31 พ.ค.เพื่อวางแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม จากนั้นจะเชิญผู้ประกอบการมายวร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลความต้องการ
การรวบรวมข้อมูลตัวเลขความเสียหายและจำนวนผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมในขณะนี้ไม่ได้ล่าช้า แต่กระทรวงท่องเที่ยวฯ ได้ติดตามดำเนินการมาตลอด และต้องเข้าใจว่าระหว่างนี้รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการได้รับความเสียหายจากการชุมนุมก่อน ถัดจากนั้นก็จะเป็นการเข้าไปช่วยเหลือในส่วนของผู้ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว
สำหรับมาตราการที่เตรียมเสนอ ครม. สัปดาห์หน้า เป็นมาตรการต่อเนื่องที่ต้องดำเนินการต่อในเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่อเนื่อง โดยจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ด้วยการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งจากเดิมเสนอไว้ 2,000 ล้านบาท ตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท จึงจะเสนอขอ ครม.อีก 5,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)จะเสนอของบ 1,600 ล้านบาทเพื่อใช้ในการฟื้นฟูสร้างความเชื่อมั่น
นายอรรถชัย กล่าวว่า เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำก้อนนี้ ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารออมสินเป็นผู้ห็สินเชื่อ รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ย MLR -3% และมีระยะเวลาปลอดการชำระเงินต้น 1 ปี ตามหลักเกณฑ์ที่ครม.มีมติไว้เดิมเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 53
ขณะเดียวกัน ขอให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ขยายระยะเวลาการจ่ายชำระเงินต้น สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับอนุมัติเงินกู้แล้ว จากเดิมมีระยะเวลาการจ่ายชำระเงินต้น 1 ปี เป็น มีระยะเวลาการจ่ายชำระเงินต้น 2 ปี
“แผนงานหลักๆที่กระทรวงต้องดำเนินการ คือ แผนงานฟื้นฟูภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่น แผนงานกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ มุ่งเจาะตลาดนักท่องเที่ยวหลักๆ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง เพื่อให้กลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทย แผนงานกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในประเทศ เป็นการกระตุ้นตลาดภายในประเทศในช่วงระยะแรกๆ หลังจากเหตุการณ์สงบลง“นายอรรถชัย กล่าว
นายอรรถชัย กล่าวว่า ได้รับรายงานการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เข้ามาประเทศไทย โดยสำรวจการเดินทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ พบว่า ในวันที่ 19 พ.ค.มีจำนวน 12,200 คน วันที่ 20 พ.ค. 14,400 คน วันที่ 21 พ.ค. จำนวน 12,930 คน วันที่ 22 พ.ค. 13,353 คน วันที่ 23 พ.ค.จำนวน 13,834 คน
"จะพบว่าหลังยุติการชุมนุม มีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ไม่เพิ่มสูงขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเป็นความกังวลจากการประกาศเคอร์ฟิว"นายอรรถชัย กล่าว