OECD ยกระดับคาดการณ์เศรษฐกิจในประเทศสมาชิก ชี้เศรษฐกิจจีน-อินเดียหนุนการฟื้นตัว

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 26, 2010 17:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ยกระดับคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสมาชิกในปีนี้และปีหน้า จากอานิสงส์ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น จีนและอินเดีย

OECD คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสมาชิกจะขยายตัวได้ 2.7% ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนพ.ย. ที่ระดับ 1.9% และคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ 4.6% ในปีนี้ และ 4.5% ในปีถัดไป เมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยที่ 3.7% ในระหว่างปี 2539-2549

ทั้งนี้ OECD ชี้ว่า ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างทางเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ทั่วโลกหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหนักสุดในรอบกว่า 50 ปีเมื่อปีที่แล้ว เพราะในขณะที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างจีนและอินเดียมีความเสี่ยงต่อการเผชิญภาวะเศรษฐกิจร้อนแรงเกินพิกัด แต่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วกลับเผชิญภัยคุกคามด้านวิกฤตหนี้สินที่อาจลุกลามเป็นวงกว้าง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า วิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรปที่มีจุดเริ่มต้นจากกรีซทำให้นักลงทุนมีความกังวลว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเลือนลางลง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวยังฉุดรั้งให้ตลาดหุ้นทั่วโลกซบเซาลงไปด้วย โดยในปีนี้ดัชนี MSCI World Index ดิ่งลง 10% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ตลาดหุ้นนิวยอร์กทรุดตัวลง 3.7% และดัชนี Euro Stoxx 50 Index ตกลง 14%

อย่างไรก็ตาม OECD ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐว่าจะยังขยายตัวได้ 3.2% ในปีนี้และปีหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเมื่อเดือนพ.ย.ที่คาดว่า จะเติบโตในระดับ 2.5% ส่วนเศรษฐกิจในยุโรปจะปรับตัวสูงขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 0.9% ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มเดินหน้าได้ 3% จากที่คาดการณ์ไว้ 1.8%

นอกจากนี้ OECD คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้กว่า 11% ในปีนี้ ส่วนอินเดียจะขยายตัวที่ 8.3% และบราซิลจะเติบโต 6.5% ซึ่งจะสังเกตุได้ว่าตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทิ้งช่วงห่างกันค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์แนะว่า รัฐบาลจะสามารถควบคุมการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างยั่งยืน แข็งแกร่ง และมีความสมดุลมากขึ้นผ่านการใช้นโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาค ควบคู่กับการปรับนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยน และนโยบายเชิงโครงสร้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ