สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ปรับเพิ่มคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้า หลังจากที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตการเงินครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
รายงานการปรับทบทวนสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกประจำปี 2553 ของยูเอ็นระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ 3% ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 2.4% และคาดว่าในปีหน้า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ 3.2%
นอกจากนี้ หากแยกตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศพบว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจขยายตัวได้ 2.9% ในปีนี้ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 2.5% ในปีหน้า ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในญี่ปุ่นจะขยายตัวที่ 1.3% ในปีนี้และปีหน้า ส่วนกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) จะมีอัตราการขยายตัว 0.9% ในปีนี้ และ 1.5% ในปีถัดไป
สำหรับเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตในระดับ 9.2% ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ที่ 8.8% ในปีหน้า สำหรับอินเดียคาดว่าจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 7.9% ในปีนี้ และ 8.1% ปีหน้า ซึ่งทั้งสองประเทศนี้จะยังเป็นแกนนำการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก และปัจจัยหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศจะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆได้รับอานิสงส์นี้ไปด้วย
ในส่วนของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทวีปแอฟริกานั้น ยูเอ็นคาดว่าจะขยายตัวแตะที่ 4.7% ในปีนี้จากระดับ 2.4% ในปีที่ผ่านมา และขยายตัวที่ 5.3% ในปีหน้า และการขยายตัวทางเศรษฐกิจในลาตินอเมริกาและแคริบเบียนจะฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากที่คาดการณ์ไว้ในก่อนหน้านี้ ซึ่งยูเอ็นคาดว่าจะเติบโตที่ระดับ 4% ในปีนี้ และ 3.9% ในปีหน้า
ทั้งนี้ ยูเอ็นระบุว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกำลังอยู่ในระหว่างการฟื้นตัว จากอานิสงส์ของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายทางการเงินของรัฐบาลที่เอื้อต่อการขยายตัว หลังจากที่เศรษฐกิจหดตัวลง 2% ในปี 2552
ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของยูเอ็นกล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจเริ่มคลี่คลายลงแล้ว ซึ่งเราเริ่มเห็นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญช่วงขาลงอยู่บ้าง ซึ่งอาจทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจในปีต่อๆไปขยายตัวในระดับปานกลาง
อย่างไรก็ตาม ยูเอ็นเน้นว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่แข็งแกร่งพอที่จะฟื้นฟูตลาดแรงงานที่ซบเซา และยังอ่อนแอเกินกว่าที่จะกระตุ้นกำลังการผลิตสินค้าที่ขาดหายไปในระบบเศรษฐกิจ หลังจากที่ทั่วโลกเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งรุนแรง
ขณะเดียวกัน สัญญาณบ่งชี้ถึงปัจจัยบวกที่มีต่อเศรษฐกิจมาจากตัวเลขค่าชดเชยความเสี่ยงในตลาดสินเชื่อส่วนใหญ่ที่ลดลงไปลงไปอยู่เท่ากับเมื่อช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าตลาดการเงินกลับมามีความเชื่อมั่นมากขึ้น และเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของกระแสเงินทุนไหลเข้าภาคเอกชนในตลาดเกิดใหม่
ส่วนปัจจัยในแง่ลบนั้น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังต้องพึ่งพามาตรการกระตุ้นภาคการเงินและการคลังอยู่มาก ซึ่งบริษัทต่างๆ ต้องเร่งปรับสต็อกสินค้า เนื่องจากการจัดหาสินเชื่อเริ่มปรับตัวลดลง และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจได้ก่อให้เกิดหนี้สินเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การปรับเพิ่มคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกของยูเอ็นในครั้งนี้บ่งชี้ได้ว่า หลายประเทศจะยังคงใช้มาตรการกระตุ้นภาคการเงินต่อไปในปีนี้ ก่อนที่จะทยอยถอนมาตรการดังกล่าวในปีหน้า