กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แสดงความเห็นว่า ค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์อยู่ในระดับที่สูงกว่ามูลค่าพื้นฐาน (overvalue) ประมาณ 10 - 25% และจำเป็นอย่างยิ่งที่ค่าเงินสกุลนี้จะต้องถูกปรับลดลงเพื่อช่วยให้นิวซีแลนด์สามารถลดยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้ โดยค่าเงินนิวซีแลนด์พุ่งขึ้นไปแล้วกว่า 20% นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2552 เป็นต้นมา
ไอเอ็มเอฟระบุว่า นิวซีแลนด์สามารถรับมือกับวิกฤตการณ์การเงินโลกได้ดีกว่าประเทศอื่นๆในกลุ่มชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะดีมานด์ในภูมิภาคเอเชียแข็งแกร่ง รวมทั้งนิวซีแลนด์เองก็ยังไม่ได้เผชิญกับวิกฤตการณ์ในภาคการธนาคาร และมีระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟคาดว่า เศรษฐกิจนิวซีแลนด์มีแนวโน้มขยายตัว 3% ในปีนี้และปีหน้า
นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟกล่าวว่า แนวโน้มด้านงบประมาณในระยะกลางของนิวซีแลนด์ยังไม่แข็งแกร่งและมีปัญหาท้าทายอยู่มาก รวมถึงสถานะการคลังที่ย่ำแย่และหนี้สินต่างประเทศของภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูงมาก โดยภาพรวมด้านงบประมาณของนิวซีแลนด์ดูอ่อนแอก็เพราะรัฐบาลใช้นโยบายลดหย่อนภาษีเงินได้
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟกล่าวว่า ในขณะที่นิวซีแลนด์สามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกด้วยการใช้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายนั้น ทางการนิวซีแลนด์ก็ควรพิจารณาเรื่องการถอนมาตรการดังกล่าวทันที่ที่เห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการควบคุมความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับภาคธนาคาร
การแสดงความเห็นของไอเอ็มเอฟสอดคล้องกับองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ที่กล่าวเมื่อวานนี้ว่า นิวซีแลนด์ ควรเร่งถอนมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย หลังจากธนาคารกลางนิวซีแลนด์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.5%
นายอลัน บอลลาร์ด ผู้ว่าการธนาคารกลางนิวซีแลนด์ กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า ธนาคารกลางมีเป้าหมายที่จะทำให้สกุลเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์อ่อนค่าลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อเป้าหมายที่จะกระตุ้นการส่งออกและควบคุมดีมานด์การนำเข้า โดยยอดส่งออกเดือนเม.ย.ของนิวซีแลนด์ขยายตัวขึ้น 9% ขณะที่ยอดนำเข้าทรงตัว ทำให้นิวซีแลนด์มียอดเกินดุลการค้าอยู่ 161 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ หรือ 107 ล้านดอลลาร์สหรัฐในรอบปีที่สิ้นสุด ณ วันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเกินดุลครั้งแรกในรอบเกือบ 8 ปี