ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวเพิ่มเป็น 4.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.5% เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวมากถึง 17% ขณะที่การลงทุนโครงการไทยเข้มแข็งเบิกจ่ายแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท แต่คงหมดโอกาสที่จีดีพีจะขยายตัว 6-7% หลังเกิดวิกฤตทางการเมืองที่ส่งผลให้เศรษฐกิจได้รับความเสียหายราว 1.4-1.5 แสนล้าน ฉุดจีพีดีลดลง 1.4-1.6%
"ศูนย์ฯได้ปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ใหม่เป็นขยายตัว 4.5% ทั้งที่มีโอกาสขยายตัวได้มากถึง 6-7% จากเดิมที่คาดขยายตัว 3.5% หากสถานการณ์ทางการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวตามคาดที่ 4% และวิกฤติการเงินของกรีซไม่ลุกลามไปทั่วยุโรป ซึ่งอัตราการขยายตัวดังกล่าวมีโอกาสเป็นไปได้มากถึง 60%" นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ได้แถลงถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกปีนี้สูงถึง 12% ประกอบกับมีแนวโน้มที่การส่งออกสินค้าไทยปีนี้จะขยายตัวสูงถึง 17% คิดเป็นมูลค่า 176,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากเดิมคาดขยายตัวเพียง 15% รวมถึงรัฐบาลได้เร่งเบิกจ่ายงบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็งไปแล้วเกือบ 150,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้ 4.5%
"ปีนี้การส่งออกจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยโตได้ 4.5% รองลงมาคือ การลงทุนของภาครัฐ ซึ่งยังมีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องเร่งเบิกจ่ายงบไทยเข้มแข็งต่อไปอีก ส่วนการบริโภคในประเทศยังไม่โดดเด่นพอ โดยเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวราวเดือนกันยายน และฟื้นชัดเจนเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป แต่ถ้าไม่มีปัญหาทางการเมืองจนกลายเป็นจลาจลเหมือนช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายโตได้ถึง 6-7% ด้วยซ้ำ" นายธนวรรธน์ กล่าว
สำหรับสาเหตุที่เศรษฐกิจไทยไม่สามารถโตได้ถึง 6-7% มาจากผลกระทบทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมารวม 70 วันนับตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.53 ทำเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจหายไป 138,000-155,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การบริโภคในประเทศหายไป 56,000-70,000 ล้านบาท การลงทุนทางตรงหายไป 2,000-5,000 ล้านบาท เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวทั้งจากต่างประเทศ และภายในหายไป 60,000-80,000 ล้านบาท รวมแล้วทำให้อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง 1.4-1.6%