สภาพัฒน์ประเมินภาวะว่างงาน Q2-Q3 แนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเหตุจลาจล-ผลกระทบเกษตร

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 31, 2010 13:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) เผยภาวะการจ้างงานในช่วงไตรมาสแรกของปี 53(ม.ค.-มี.ค.) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตและบริการอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายปี 52 ทำให้อัตราการว่างงานลดลงเป็นร้อยละ 1.1 หรือมีผู้ว่างงาน 4.3 แสนคน จำนวนผู้ที่ทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงเพิ่มขึ้น 14% จำนวนผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานลดลงเป็น 126,116 คน

อย่างไรก็ดี มีประเด็นเฝ้าระวังสำคัญในระยะต่อไป คือ การว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 และ 3 และมีผลกระทบคุณภาพชีวิตแรงงานจากการขาดรายได้เนื่องจากความเสียหายต่อภาคธุรกิจที่เกิดจากการชุมนุมและการก่อการจลาจลทำให้มีการลดชั่วโมงการทำงานและลดการจ้างงาน

ทั้งนี้จากข้อมูลกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน พบว่ามีผู้มาขอรับความช่วยเหลือจากเหตุการณ์ชุมนุมตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน — 24 พฤษภาคม จำนวน 6,043 ราย และภาคธุรกิจยังต้องใช้เวลา 1-3 เดือน ในการฟื้นฟูกิจการ และการฟื้นฟูความเชื่อมั่น ประกอบกับในไตรมาสสามไม่ใช่ฤดูการท่องเที่ยว จึงคาดว่าการท่องเที่ยวและการจ้างงานในภาคบริการท่องเที่ยวและการค้าจะยังไม่ฟื้นตัวจนกระทั่ง ปลายปีซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวและฤดูกาลจับจ่ายใช้สอย

อีกทั้งยังมีปัญหาภัยพิบัติภาคการเกษตร ทั้งภาวะภัยแล้งและการระบาดของศัตรูพืชที่มีความรุนแรงอาจจะส่งผลให้ภาคเกษตรไม่สามารถช่วยรองรับแรงงานได้มาก

และการทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้จบการศึกษาใหม่ โดยเฉลี่ยปีละ 4 - 5 แสนคน ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน จะส่งผลให้จำนวนผู้ว่างงานที่มีอายุ 20-24 ปีเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสอง

นอกจากนี้ ในเชิงโครงสร้างตลาดแรงงานยังมีปัญหาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการของตลาด เห็นได้จากสัดส่วนตำแหน่งงานว่างต่อผู้สมัครที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนการบรรจุงานต่อตำแหน่งงานว่างลดลง นอกจากนี้ สัดส่วนตำแหน่งงานว่างต่อผู้สมัครที่เพิ่มขึ้น ยังชี้ถึงความตึงตัวของตลาดแรงงานในภาพรวม

ขณะที่ปัญหาสุขภาพจิตในสังคมมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นท่ามกลางปัญหาทางการเมือง (Political Stress Syndrome: PSS) ความขัดแย้งในสังคม และปัญหาเศรษฐกิจสำหรับประชาชนบางกลุ่ม ในขณะที่คนไทยยังขาดทักษะการจัดการความเครียดและภาวะวิกฤตในชีวิต ปัญหาสุขภาพจิตนั้น มีแนวโน้มภาระโรคสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพคน

วาระเร่งด่วนในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนในทุกด้านคือ การพัฒนาคนไทยในทุกช่วงวัยให้เป็นคนเก่ง คนดีมีศีลธรรม มีคุณภาพ มีจิตสาธารณะ และการเสริมสร้างพลังประชาชนในทุกกลุ่มวัยให้เป็นพลังบวกและสร้างสรรค์ในการสร้างชาติ โดยเฉพาะการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่จะเข้ามารับช่วงการพัฒนาประเทศต่อไปท่ามกลางปัญหาการขาดต้นแบบที่ดีและความอ่อนแอของต้นทุนชีวิตที่จะเป็นปัจจัยหล่อหลอมให้เกิดการพัฒนาทางด้านจิตใจ สังคม สติปัญญาให้สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพภายใต้เงื่อนไขความเสี่ยงที่มีมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ