(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน พ.ค.53 เพิ่มขึ้น 3.5%, Core CPI เพิ่มขึ้น 1.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 1, 2010 11:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน พ.ค.53 อยู่ที่ 107.87 เพิ่มขึ้น 3.5% จากเดือน พ.ค.52 และเพิ่มขึ้น 0.20% จาก เม.ย.53 ขณะที่ CPI ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-พ.ค..) ขยายตัว 3.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน พ.ค.53 อยู่ที่ระดับ 103.51 เพิ่มขึ้น 1.2% จากเดือน พ.ค.52 และเพิ่มขึ้น 0.06% จาก เม.ย.53 ขณะที่ Core CPI ช่วง 5 เดือนแรก ขยายตัว 0.6%

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกทำให้ CPI ปรับตัวสูงขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่เดือนต.ค. 52 และเข้าสู่เสถียรภาพตั้งแต่ต้นปี 53 จนล่าสุดขยายตัวในระดับ 3.5% ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะประสบปัญหาทางการเมือง แต่ดัชนีราคาผู้บริโภคถือว่ายังมีเสถีรภาพ

"CPI ในเดือนพ.ค. ยังโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และถือว่าเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ อัตราการการเปลี่ยนแปลง CPI ของไทย ถือว่า อยู่ในทางสายกลางเมื่อเทียบกับหลายประเทศในเอเชีย ไม่ขึ้นสูงไม่ลงสูง สอดคล้องกับองค์ประกอบอื่นๆ ทางเศรษฐกิจ เช่นการส่งออก อัตราการบริโภค การจ้างงาน ซึ่งรวมแล้วแสดงถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจโดยรวม แม้จะมีปัญหาทางการเมือง" นายยรรยง กล่าว

สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน พ.ค.53 อยู่ที่ 122.29 เพิ่มขึ้น 4.6% จากเดือน พ.ค.52 และเพิ่มขึ้น 0.97% จากเดือน เม.ย.53 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 98.90 เพิ่มขึ้น 2.8% จากเดือน พ.ค.52 แต่ลดลง 0.25% จากเดือน เม.ย.53

การเพิ่มขึ้นของ CPI ในเดือนพ.ค. 53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปัจจัยหลักมาจากราคาอาหารสด เช่น ผักสด ผลไม้สด ข้าว ผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ นอกจากนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังสูงขึ้นจากปีก่อน 31.6% ขณะที่มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล เช่น ค่าไฟฟ้า ค่ารถเมล์ฟรี การตรึงราคาก๊าซหุงต้ม การช่วเยหลือค่าอุปกรณ์การเรียน การดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิด ยังคงเป็นการส่งสัญญาณและมีส่วนช่วยค่าครองชีพของประชาชนให้อยู่ในภาวะที่แสดงถึงความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

นายยรรยง กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2/53 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5% ส่วนครึ่งปีหลังคาดว่าอัตราการขยายตัวของเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงในครึ่งปีหลัง ประกอบกับ ราคาเหล็กและทองแดงจะทรงตัว และกระทรวงพาณิชย์เองจะมีมาตรการธงฟ้าเพื่อช่วยตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้ทั้งปียังคงเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อไว้ตามเดิมที่ 3.0-3.5%

สมมติฐานของ CPI ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 70-80 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอยู่ที่ 31.33 บาท/ดอลลาร์ และรัฐบาลมีการขยายมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ