นักวิชาการ-นายแบงก์ เห็นสอดคล้องกันว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 2 มิ.ย.53 คาดว่าจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจต่อไป หลังจากการเกิดเหตุจลาจลทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทย ขณะที่แรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อมีไม่มากนัก
นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้จัดการฝ่ายวิจัยการเงินการธนาคาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การประชุม กนง.ในวันที่ 2 มิ.ย.53 เชื่อว่าคงจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ต่อไป จากเดิมที่ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่ กนง.อาจจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ แต่เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตเศรษฐกิจ แม้ขณะนี้สถานการณ์จะคลี่คลายลงแล้วก็ตาม แต่ผลกระทบยังมีอยู่ และยังมีความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดการเผชิญหน้ากันได้อีก ซึ่งยังไม่สามารถคาดเดาได้
ทั้งนี้ ประเมินว่า กนง.มีแนวโน้มจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งต่อไปในเดือน ส.ค.53 เป็นครั้งแรก อย่างน้อย 0.25% และจะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งปีนี้รวมไม่เกิน 0.75% หรือภายในสิ้นปี 53 ดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นจาก 1.25% เป็น 2% เนื่องจากแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นยังมีไม่มาก ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ส่งสัญญาณชัดเจนว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ต้องการเพิ่มความเข้มงวดของนโยบายการเงิน แต่ต้องการให้ดอกเบี้ยเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ
โดยมองว่าเงินเฟ้อมีจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่เนื่องจากการลดลงของราคาน้ำมัน และ การใช้จ่ายในประเทศอาจอ่อนตัวลงจากความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าในปี 53 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป(Headline Inflation) เฉลี่ยจะอยู่ที่ 3-4% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core Inflation) จะอยู่ที่ 1.5-2% แต่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท.
ส่วนการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่ายังอยู่ในกรอบ 2.6-4.5% แม้ไตรมาส 1/53 จะเติบโตได้แข็งแกร่งถึง 12% แต่ไตรมาส 2/53 เศรษฐกิจมีโอกาสหดตัวเมื่อเทียบไตรมาส 1/53 แต่ยังขยายตัวได้ในอัตรา 2.5-3.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถือว่าชะลอตัวลงมากจากผลกระทบจากการเมือง
อีกทั้งขณะนี้ยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ปัญหาหนี้สินของประเทศในยุโรปที่อาจกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ซึ่งต้องมีการดูแลเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากการส่งออกมีสัดส่วน 2 ใน 3 ของจีดีพี
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ ประเมินว่า กนง.ในวันที่ 2 มิ.ย.53 จะยังตรึงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันไว้ที่ 1.25% เพื่อติดตามความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีน้ำหนักเมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ยิ่งในสภาวะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศเพิ่งเริ่มคลี่คลาย และยังต้องใช้เวลาพอสมควรในการฟื้นฟูและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงจากความเป็นไปได้ที่วิกฤตการคลังอาจลุกลามไปสู่ภาคธนาคารในภูมิภาคยุโรป รวมถึงความตึงเครียดทางการเมืองในคาบสมุทรเกาหลีที่ปะทุขึ้น
ทั้งนี้ การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม จะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินในประเทศยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งก็น่าจะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศ
สำหรับการแข่งขันทางด้านราคาในเชิงรุกผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปของสถาบันการเงินนั้น คงจะต้องรอสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนของความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจและครัวเรือนซึ่งเชื่อมโยงอย่างมากของภาวะเศรษฐกิจ ตลอดจนขึ้นอยู่กับการดำเนินกลยุทธ์เพื่อรับมือกับทางเลือกการออมประเภทอื่นๆ เป็นสำคัญ
ขณะที่นายพงศ์พัฒน์ คุโรวาท ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ มองว่า กนง.คงต้องชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายออกไป จากเดิมที่เคยคาดว่าจะมีการปรับขึ้นในช่วงไตรมาส 3/53 อาจชะลอเป็นการปรับขึ้นช่วงปลายปี หรือมีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ไว้ตลอดทั้งปีนี้ก็ได้ เป็นผลมาจากผลกระทบจากปัญหาการเมืองต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อที่ไม่ได้อยู่ในระดับสูงจนเป็นแรงกดดันต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อีกทั้งเศรษฐกิจของสหรัฐและปัญหาของยุโรป ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยต่างประเทศยังเป็นไปได้ยาก
"เราอาจยังไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะตอนนี้เงินเฟ้อไม่ได้สูง ซึ่งคาด core inflation อยู่ที่ 1-1.5% ถ้าเทียบกับดอกเบี้ยนโยบาย 1.25% หรือขึ้นอีก 0.25% ก็ใกล้เคียงกัน จึงไม่ได้สร้างแรงกดดัน ทั้งปีจึงมองว่า กนง.อาจจะคงดอกเบี้ย หรือขึ้นแค่ 0.25%"นายพงศ์พัฒน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าจากปัญหาการเมืองที่มีเหตุการณ์จลาจล กระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจปีนี้อย่างน้อย 0.60-1% แต่ฝ่ายวิจัยได้ปรับเพิ่มประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้จากเดิม 3-4.5% เป็น 3.5-5% เนื่องจากเศรษฐกิจไตรมาส 1/53 ขยายตัวถึง 12% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนไตรมาส 2-3/53 การขยายตัวจะชะลอลง โดยคาดว่าไตรมาส 2/53 จะขยายตัวลดลงจาก 3% เป็น 1.5-2%
และจากการที่เกิดเหตุการณ์จลาจลเผาสถานที่ต่างๆ มองว่าอาจจะเป็นผลบวกในมุมมองทางเศรษฐกิจ ในแง่ของการเพิ่มการลงทุนใหม่ๆ เพราะสถานที่ถูกเผาเป็นสินทรัพย์เก่า ดังนั้น การลงทุนใหม่ๆ เพิ่มจะทำให้ภาคก่อสร้างได้รับผลดี อีกทั้ง การบริโภคภาคเอกชนไม่ได้ชะลอลง เห็นได้จากช่วงที่มีการชุมนุมปิดห้างสรรพสินค้ากลางเมือง แต่ประชาชนหันไปใช้จ่ายในห้างชานเมืองแทน ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น และช่วงประกาศใช้เคอร์ฟิวประชาชนเร่งออกมาใช้จ่ายซื้อสินค้ามากกว่าปกติเพื่อกักตุนไว้
ส่วนปัจจัยภายนอกจากปัญหาของประเทศในแถบยุโรป อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกบ้างในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้การส่งออกขยายตัวได้มาก ทำให้ฝ่ายวิจัยมีการปรับเพิ่มเป้าหมายการส่งออกปีนี้จาก 10-15% เป็น 15-20%
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีปัจจัยใหม่ที่จะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียที่ส่อจะเกิดสงครามระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ที่อาจกระทบการลงทุนในภูมิภาค อาจมีความไม่แน่นอนสูงและมีความเสี่ยงที่จะเข้าใกล้ภาวะสงคราม อาจทำให้ต่างชาติถอนเงินลงทุนออกจากภูมิภาคเอเซีย และหันกลับไปลงทุนในทองคำและพันธบัตรในสหรัฐแทน