ผลสำรวจเผยจีนแซงหน้าญี่ปุ่นครองตำแหน่งพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของสหรัฐในเอเชีย

ข่าวต่างประเทศ Tuesday June 1, 2010 14:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้นำทางความคิดราว 200 คนจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ วิชาการ สื่อ ศาสนา และแรงงานในสหรัฐ ซึ่งระบุว่า จีนแซงหน้าญี่ปุ่นในฐานะพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของสหรัฐในเอเชียเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2528

ขณะที่ผลการสำรวจประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,200 คน พบว่าญี่ปุ่นเสมอกับจีนในฐานะพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของสหรัฐในเอเชีย

โดย 56% ของผู้นำทางความคิดระบุว่าจีนเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดในเอเชียสำหรับสหรัฐ ขณะที่ 36% ระบุว่าเป็นญี่ปุ่น ส่วนประชาชนทั่วไปเห็นว่าทั้งจีนและญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของสหรัฐที่ 44%

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ผู้นำทางความคิดเลือกว่าจีนหรือญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของสหรัฐ ส่วนปัจจัยรองลงมาคือขนาดของประเทศและจำนวนประชากรสำหรับจีน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสำหรับญี่ปุ่น

ผลสำรวจระบุว่า 90% ของผู้นำทางความคิด และ 79% ของประชาชนทั่วไปเห็นว่าญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรหรือเพื่อนที่พึ่งพาได้ เทียบกับระดับ 91% และ 80% ในการสำรวจปีที่แล้ว

เมื่อกล่าวถึงสนธิสัญญาความมั่นคงญี่ปุ่น-สหรัฐ ซึ่งครบรอบ 50 ปีในปีนี้ 90% ของผู้นำทางความคิด และ 86% ของประชาชนทั่วไปเห็นว่าควรใช้สนธิสัญญาดังกล่าวต่อไป

สำหรับประเด็นด้านเศรษฐกิจนั้น 64% ของผู้นำทางความคิด และ 54% ของประชาชนทั่วไปสนับสนุนการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ขณะที่ 49% ของผู้นำทางความคิดสนับสนุนการใช้ระบบรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นในสหรัฐ โดยคำถามเกี่ยวกับระบบรถไฟถูกถามครั้งแรกในการสำรวจครั้งนี้ และมีการถามเฉพาะผู้นำทางความคิดเท่านั้น

เมื่อถูกถามว่าญี่ปุ่นควรได้เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือไม่ ผู้นำทางความคิด 56% เห็นว่าควร ขณะที่ 41% เห็นว่าไม่ควร โดย 69% ของผู้ที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่าญี่ปุ่นยังล้าหลังประเทศอื่นด้านการให้บุคลากรมีส่วนร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพและกองกำลังนานาชาติของยูเอ็น ซึ่งคำถามนี้มีการถามเฉพาะผู้นำทางความคิดเท่านั้น

ทั้งนี้ ผลสำรวจครั้งนี้จัดทำโดยกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ซึ่งโดยปกติแล้วการสำรวจนี้จะทำขึ้นเกือบทุกปีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 สำนักข่าวเกียวโดรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ