ศูนย์วิจัยกสิกร มองเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวช้า ส่งผลธปท.ยืดขึ้นดอกเบี้ยไปปลายปี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 1, 2010 16:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 53 อยู่ระหว่าง 3.0-4.0% แต่ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลงมาอยู่ที่ 1.0-1.5% จากเดิมที่ 1.5-2.0% เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงและภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่อ่อนแอลงจากผลกระทบทางการเมือง

วันนี้ กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน พ.ค.53 ปรับเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าอาหารสดแพงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นจาก 3.0% ในเดือน เม.ย.53 ขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าอัตราเงินแฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.2% โดยแม้ว่าราคาน้ำมันในประเทศปรับลดลงมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ราคาอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจำพวกผักสด เนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน พ.ค.เร่งขึ้นมาอยู่ที่ 1.2% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และสูงขึ้นจาก 0.5% ในเดือนเม.ย.53 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานเปรียบที่ต่ำของเดือน พ.ค.52 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลเริ่มต้นใช้มาตรการเรียนฟรี 15 ปี ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านค่าเล่าเรียนและอุปกรณ์การเรียนในตะกร้าเงินเฟ้อปรับลดลงอย่างมาก

ส่วนในเดือน มิ.ย.53 มีประเด็นเชิงนโยบายของรัฐบาลที่ต้องจับตา ได้แก่ การตัดสินใจของรัฐบาลต่อมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ที่กำลังจะสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.นี้ รวมทั้งมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ในการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ตรึงราคาสินค้าไปจนถึงเดือน มิ.ย. ซึ่งทั้งสองมาตรการนี้จะมีผลค่อนข้างมากต่อจังหวะความเร่งของทิศทางเงินเฟ้อในเดือนถัดๆ ไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเข้าสู่ช่วงขาขึ้น แต่ภาวะราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากปัญหาทางการเมือง น่าจะส่งผลให้การปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าที่จำเป็นสำหรับการอุปโภคบริโภคในระยะเดือนที่เหลือของปี มีอัตราเร่งที่ช้าลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

ดังนั้น จึงทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดกรอบประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสำหรับปี 53 เป็น 1.0-1.5% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 1.5-2.0% โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในครึ่งหลังของปี 53 จะอยู่ระหว่าง 1.6-2.1% จากประมาณ 0.7% ในครึ่งปีแรก ทั้งนี้ กรอบบนของประมาณการเงินเฟ้อดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานคำนึงถึงผลในกรณีที่รัฐบาลยกเลิกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพและการอุดหนุนราคาพลังงานบางส่วนแล้ว

ทั้งนี้ มองว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ช้าลงนี้ มีส่วนช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยในระดับหนึ่ง ทำให้ ธปท.สามารถยืดระยะเวลาของการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยแบบผ่อนปรน โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง ซึ่งก็จะสอดคล้องกับความจำเป็นที่นโยบายการเศรษฐกิจของทางการในขณะนี้อาจยังต้องมีเป้าหมายช่วยประคับประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากเศรษฐกิจในภาพรวมและภาคธุรกิจหลายสาขาเผชิญผลกระทบจากสถานการณ์รุนแรงทางการเมือง ที่จะส่งผลให้มูลค่าเศรษฐกิจในไตรมาส 2/53 ที่ปรับฤดูกาล อาจหดตัวลงมากกว่า 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นแม้คาดว่าจะสามารถรักษาระดับไม่เกินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธปท.กำหนดไว้ที่ 0.5-3.0% ได้ตลอดช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ทิศทางของเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีแนวโน้มขึ้นไปยืนอยู่เหนือระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันนับตั้งแต่ต้นไตรมาส 3/53 และด้วยช่วงห่างที่กว้างมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น อาจส่งผลทำให้ ในที่สุดแล้ว ธปท. คงต้องตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเวลาที่เหมาะสมภายในครึ่งหลังของปีนี้ โดยพิจารณาปัจจัยด้านภาวะเงินเฟ้อควบคู่ไปกับผลของการเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นระยะวิกฤตของผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองไปได้ก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ