In Focusอัตวินิบาตกรรมที่ฟอกซ์คอนน์ บทสะท้อนปัญหาแรงงานหลังม่านไม้ไผ่

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 2, 2010 13:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ข่าวการฆ่าตัวตายอย่างต่อเนื่องของคนงานที่บริษัท ฟอกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) ในเมืองอุตสาหกรรมอย่างเสิ่นเจิ้น ซึ่งอยุ่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ได้จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงตลาดแรงงานในดินแดนที่ได้ชื่อว่า มีชั่วโมงการทำงานยาวนาน ขณะที่ค่าแรงต่ำ แต่ความกดดันสูง

ฟอกซ์คอนน์ เป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าไฮเทคชื่อดังระดับโลก อาทิ ไอพอดของแอปเปิล คอมพิวเตอร์ของเดลล์ อุปกรณ์การสื่อสารที่รวดเร็วทันสมัยอย่างไอโฟน โดยมีแรงงานหนุ่มสาวชาวจีนที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองตัวน้อยผู้คอยขับเคลื่อนสายพานการผลิตท่ามกลางความหวังในการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน นอกจากนี้ แรงงานดังกล่าวยังคงทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงงานแลกกับการผลิตเทคโนโลยีโก้หรูรุ่นใหม่ และคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากข่าวการฆ่าตัวตายจะกลายเป็นหัวข้อที่มีการพูดคุยกันอย่างแพร่หลาย ทั้งจากวงสนทนาหลังแก้วไวน์ ไปจนถึงเป๊กยาดอง

ฆ่าตัวตาย...ความอ่อนแอของปุถุชน หรือ ความบกพร่องของสังคมจีน

หลี่ ไห่ ลูกจ้างของฟอกซ์คอนน์วัย 19 ปี เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนอาชีวศึกษาแห่งหนึ่งในมณฑลหูหนาน แต่หลังจากเขาเริ่มชีวิตการเป็นผู้ใหญ่ได้ไม่นาน ก็ตัดสินใจกระโดดลงจากตึกของอาคารที่เพิ่งมาทำงานเพียง 42 วัน โดยที่ก่อนจากไปผู้ตายทิ้งไว้เพียงจดหมายแสดงถึงความน้อยเนื้อต่ำใจที่ซ่อนไว้ในข้อความว่า "ผมไร้ความสามารถ ผมสมควรตาย"

ในเวลาไล่เลี่ยกัน เหลียง จ้าว แรงงานหนุ่มวัย 21 ปี เป็นลูกชาวนาผู้อพยพมาแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้นในเมืองใหญ่ และตกลงปลงใจเลือกใช้ชีวิตแรงงานในเสิ่นเจิ้น ที่นี่คือสถานที่ที่เขาอาศัยทำมาหากิน ทว่ากลับกลายเป็นที่พักพิงลำดับสุดท้ายก่อนจะโบกมือลาโลกไปอย่างไม่มีวันหวนคืน

หลี่ ไห่ และ เหลียง จ้าว เป็น 2 ใน 10 ของพนักงานฟอกซ์คอนน์ที่จบชีวิตจากการฆ่าตัวตายในปีนี้ ขณะที่อีกพนักงานอีก 2 รายพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ เช่นเดียวกับหนุ่มวัยเบญจเพสใจเด็ดอีกหนึ่งราย ที่ใช้มีดกรีดข้อมือหมายจะฆ่าตัวตายในหอพักของโรงงาน แต่เดชะบุญที่แพทย์และพยาบาลช่วยชีวิตไว้ได้ทัน

กระแสการกระโดดตึกฆ่าตัวตายและเสียชีวิตเป็นรายที่ 10 ของพนักงานในบริษัทฟอกซ์คอนน์ นำมาซึ่งคำถามที่ยังต้องการคำตอบว่า สาเหตุที่ทำให้แรงงานหนุ่มสาวชาวจีนปลิดชีพลาตายก่อนถึงวัยอันควรนั้น เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล หรือเกิดจากปัญหาสังคมที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน

กิลเบิร์ต หว่อง ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่า "โดยปกติแล้ว แรงงานจากหมู่บ้านตามชนบททั้งหลายต่างก็มีระบบเกื้อหนุนจุนเจือกันและกันในสังคม ทว่าทันทีที่ต้องออกมาจากหมู่บ้าน พวกเขาต่างต้องสูญเสียคุณสมบัติเหล่านี้ไป ซึ่งหากคุณเป็นคนเมือง คุณอาจจะชาชินกับวิถีชีวิตแบบคนเมือง แต่น่าเศร้าที่แรงงานเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนเมือง"

ขณะเดียวกัน บรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเช่นนี้ได้นำไปสู่การโดดเดี่ยวทางสังคม ขณะที่ชั่วโมงการทำงานอันแสนยาวนาน การปฏิบัติตอบสนองที่หยาบกระด้าง และค่าแรงที่ถูกลงนั้น ล้วนเป็นแรงกดดันที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย

เปิดประตู...สู่อาณาจักรฟอกซ์คอนน์

หลังข่าวฉาวเรื่องการฆ่าตัวตายของพนักงานแพร่สะพัดออกไป เทอร์รี่ โกว ประธานบริษัทหง ไห่ พรีซิชั่น ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของฟ็อกซ์คอนน์จากไต้หวัน ได้นำทัพนักข่าวเข้าเยี่ยมชมโรงงาน เพื่อแก้ข้อครหาที่ว่าสถานที่แห่งนี้คือ "โรงงานนรก"

โรงงานของฟอกซ์คอนน์เปรียบเสมือนอาณาจักรขนาดย่อมที่แวดล้อมไปด้วยโรงงาน ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ร้านเบเกอรี่ ธนาคาร ไม่เว้นแม้กระทั่งคลินิกฝังเข็ม ท่ามกลางจำนวนพลเมืองที่อาศัยอยู่ร่วมกันราว 420,000 ชีวิต แต่หลังจากที่เกิดเหตุฆ่าตัวรายรายวัน บริษัทได้ติดตั้งตาข่ายรักษาความปลอดภัยครอบคลุมพื้นที่ 1.5 ล้านตารางเมตร ในอาณาบริเวณหอพักและอาคารโรงงาน รวมถึงการก่อรั้วสูง 3 เมตร เพื่อขัดขวางการฆ่าตัวตายของลูกจ้างที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ขณะที่สภาพความเป็นอยู่ในห้องพักแออัดอย่างกับปลากระป๋อง โดยคนงานหญิงรายหนึ่งเล่าด้วยอารมณ์น้ำเสียงน้อยเนื้อต่ำใจว่า ตนต้องจากบ้านมาไกลหลายพันกิโลเมตร เพื่อทนกับการอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมที่แออัดยัดเยียดกันถึง 7-8 คน เนื่องจากรายได้เฉลี่ยที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินของแรงงานที่นี่ ไม่เพียงพอต่อการออกไปหาหอพักนอกบริษัท

ในส่วนของความปลอดภัยที่ฟอกซ์คอนน์นั้นก็เข้มงวดไม่แพ้กัน เพราะทันทีที่พนักงานย่างเท้าเข้าสู่ประตูหลักของโรงงาน ต้องมีการแสดงเอกสารผ่านทางต่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย รวมถึงการตรวจค้นกระเป๋าทุกใบ และหากผู้ใดต้องการเข้ามาในพื้นที่การผลิตเฉพาะจุด ก็จะถูกตรวจสอบชุดใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม โฆษกของฟอกซ์คอนน์ย้ำว่า พนักงานทุกคนที่นี่ต่างได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ทำให้บริษัทแห่งนี้เป็นสถานที่ทำงานยอดนิยม โดยทุกวันมีผู้มาสมัครเข้าทำงานกว่า 8,000 ตำแหน่ง ทว่าผู้นำแรงงานจีนหลายคนชี้ว่า ต่อให้ฟอกซ์คอนน์ปลูกต้นไม้ร่มครึ้มทั่วโรงงาน สร้างสระว่ายน้ำมาตรฐานสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ แต่คงไม่มีประโยชน์อันใด หากแรงงานที่ไซท์ไม่มีเวลามาใช้บริการ

เสียงลือเสียงเล่าอ้าง...จากปากคำให้การของแรงงานพันธุ์มังกร

แปดโมงเช้าของทุกๆ วัน ลูกจ้างกะกลางวันของบริษัทฟอกซ์คอนน์ต่างกุลีกุจอเข้าประจำทำงานในฐานที่มั่นของตนเอง ก่อนจะออกมาผลัดเวรกับคนงานกะกลางคืน ที่จะเริ่มทำงานตั้งแต่เวลาสองทุ่มจนถึงแปดโมงเช้าในวันถัดไป โดยในระหว่างวันจะมีเวลาสำหรับอาหารกลางวันและอาหารค่ำรวม 2 ชั่วโมง และการทำงานในทุกๆ สองชั่วโมงจะมีเวลาพักให้ 10 นาที

คนงานที่นี่ต่างบ่นอุบอิบเป็นหมีกินผึ้งถึงรูปแบบการดูแลพนักงานที่คล้ายการฝึกทหารในค่ายกักกัน ขณะที่ชีวิตการทำงานในแต่ละวันคือ การป่วยไข้ไร้วิญญาณที่พวกเขาต้องทำงานจนมือเป็นระวิง อีกทั้งยังถูกสั่งห้ามมิให้พูดคุยกัน หรือเคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่จำเป็น ถึงขนาดที่บางครั้งคนงานต้องแกล้งทำของหล่นเพื่อที่จะได้เอี้ยวตัวเปลี่ยนอิริยาบถคลายความเมื่อยขบของร่างกาย

คนงานหญิงวัย 22 ปี จากมณฑลหูหนานระบายความอัดอั้นตันใจให้ฟังว่า การทำงานของเธอเหมือนหนูถีบจักรเข้าไปทุกที เพราะสายพานประกอบมาถี่และวิ่งเร็วเกินไป ทุกๆ วันเธอต้องตรวจสอบแผงหลักของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กระจุกกระจิกนับพันชิ้น ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์ไฮเทคยอดฮิตที่เธอผลิตขึ้นมากับมือ แต่ไม่มีโอกาสได้ถือหรือใช้งานในฐานะเจ้าของเลย

ด้านลูกจ้างระดับผู้จัดการโรงงานคนหนึ่งของฟอกซ์คอนน์กล่าวว่า การอยู่ที่นี่ต้องทำตามคำสั่งของเจ้านาย ดังนั้น คติประจำใจที่ว่า "ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับนาย" จึงกลายเป็นกฎแห่งความอยู่รอดที่พนักงานฟอกซ์คอนน์ต้องท่องจำให้ขึ้นใจ

แรงงานสาวอีกรายพรรณนาถึงประสบการณ์ที่เธอเคยทำงานในฟอกซ์คอนน์มา 1 ปีว่า การใช้ชีวิตที่นั่นทำให้เธอลืมไปแล้วว่าความสุขและอิสรภาพมีหน้าตาเป็นเช่นไร แรงงานอพยพทั้งหลายต่างเดินทางตามความฝันถึงชีวิตที่ตนปรารถนา แต่เมื่อเขาก้าวเข้ามากลับพบว่าความจริงและความฝันนั้นต่างกันราวฟ้ากับดิน แม้พวกเขาจะรู้ดีว่าไม่สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ด้วยเงินเดือนเพียงน้อยนิดในเสิ่นเจิ้น แต่ราคาบ้านและค่าครองชีพที่แบกไว้บนบ่าคือแรงผลักดันที่ทำให้พวกเขาทำงานหามรุ่งหามค่ำอยู่ร่ำไป และที่เลวร้ายกว่านั้น พนักงานต้องจมจ่ออยู่ในสถานที่เดิมๆ ตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน และ 7 วันต่อสัปดาห์ โดยที่พวกเขาแทบไม่รู้จักกันแม้กระทั่งชื่อเพื่อนร่วมห้องของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม มีลูกจ้างบางส่วนแสดงความเห็นเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมของเพื่อนร่วมอาชีพครั้งนี้ในมุมมองที่ต่างออกไป หลิว แรงงานชาวจีนอีกรายที่ทำงานในโรงงานของฟอกซ์คอนน์มาเป็นเวลา 3 เดือนและยังคงรู้สึกดีกับการทำงานที่นี่บอกถึงความรู้สึกของเขาอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวว่า เงินเดือนที่ได้มาก็ถือว่ามากแล้วสำหรับชาวนาอย่างเรา นอกจากนี้ การจ่ายเงินเดือนก็มาตรงเวลาไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนประจำ หรือเงินค่าล่วงเวลา ขณะเดียวกันเธอได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับชะตากรรมของชนชั้นแรงงานโดยยอมรับว่า การทำงานท่ามกลางแรงตึงเครียดอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พนักงานฆ่าตัวตาย แต่ส่วนตัวแล้วเธอยังรักที่นี่ แม้ว่าสามี ญาติพี่น้อง และเพื่อนๆ จะแสดงความห่วงใยและพูดคุยถึงเรื่องการฆ่าตัวตายกันไม่หยุดปาก

มาตรการแก้ปัญหา... ช่วยเหลือด้วยเงินตรา หรือ หยิบยื่นกำลังใจ

จากข่าวคราวที่สร้างความฉาวโฉ่ให้ฟอกซ์คอนน์ ทำให้บริษัทแห่งนี้ต้องหามาตรการแก้ปัญหาและป้องกันเหตุอัตวินิบาตกรรมของพนักงานในโรงงานกันยกใหญ่ ล่าสุดบริษัทประกาศจ่ายเงินชดเชย 100,000 หยวน ให้กับครอบครัวของพนักงานที่เสียชีวิตในโรงงานดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ในวันนี้ (2 มิ.ย.) โฆษกของฟอกซ์คอนน์ได้ประกาศถึงการขึ้นเงินเดือนให้พนักงานอย่างน้อย 30% โดยให้คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งอัตราส่วนการขึ้นเงินเดือนจำนวนนี้ สูงกว่าที่ได้มีการประกาศไปในช่วงที่ผ่านมาว่าจะปรับเพิ่มอีก 20%

ด้านบรรดานักจิตวิทยาออกมาสับแหลกถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยชี้ว่าแนวทางนี้ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "ใช้เงินฟาดหัว" เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า ในกรณีแรกที่บริษัทให้เงินชดเชยพนักงานนั้น อาจมีแรงงานหนุ่มสาวบางรายยอมฆ่าตัวตายเพียงเพราะต้องการเงินก้อนนี้ เนื่องจากปัจจุบัน บริษัทจ่ายเงินให้พนักงานเฉลี่ยเดือนละ 900 หยวน (131.77 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งสำหรับลูกจ้างวัย 20 ปีที่ยังไม่มีวุฒิภาวะมากพอนั้น อาจมองว่าเงินชดเชยดังกล่าวมีมูลค่าสูงพอที่จะช่วยจุนเจือครอบครัวของเขาได้ดีกว่าเงินที่เขาได้รับอยู่ทุกๆ เดือน

นอกเหนือจากการแก้ปัญหาด้านการเพิ่มเงินเดือนเพื่อสร้างแรงจูงใจที่ดีในการทำงานแล้ว ฟอกซ์คอนน์ได้เริ่มดำเนินมาตรการสร้างความสุนทรีย์ในชีวิตพนักงานด้วยการเปิดเพลงตามสาย เพื่อลดความเครียดของคนงาน รวมไปถึงการจัดตั้งศูนย์ฮอตไลน์ เชิญครูฝึกออกกำลังกาย และจิตแพทย์รวมกว่า 2,000 คน เพื่อรับมือในกรณีพนักงานส่อเค้ามีอาการจิตตก ซึมเศร้า เหงา และโดดเดี่ยว รวมถึงการเตรียมจัดตั้งเครือข่ายระวังภัยป้องกันการฆ่าตัวตายภายในเขตบริษัท แม้กระทั่งนิมนต์พระสงฆ์บนภูเขาอู่ไถ่ในมณฑลซานซีมาทำพิธีสะเดาะเคราะห์ปัดเป่าความทุกข์และความเศร้าหมองของพนักงานให้จางหายไป

ปัจจุบันนี้ ทั่วโลกคงไม่อาจปฏิเสธแสนยานุภาพทางการผลิตของจีนที่แข็งแกร่งไปได้ ตราบใดที่ตราสินค้า "Made in China" ยังสร้างทั้ง "ชื่อเสียง" และ "ชื่อเสีย" ให้จีนเสมอมานับตั้งแต่ที่จีนได้รู้จักกับคำว่า "ทุนนิยม" ในปี 2521 ซึ่งเป็นช่วงที่อดีตผู้นำเติ้ง เสี่ยว ผิง ประกาศใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและผลักดันจีนเปิดประตูสู่โลกภายนอก กระทั่งปัจจุบัน ชาวจีนส่วนใหญ่จากจำนวนประชากรทั่วประเทศสามารถหลุดพ้นจากความยากจน และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ ทว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนในครั้งนั้น อาจทำให้จีนเป็นทั้งผู้แพ้และผู้ชนะในสมรภูมิเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่ห่างกัน อันนำมาซึ่งบาดแผลเรื้อรังของชนชั้นแรงงาน

อย่างไรก็ดี หากมองอีกด้านหนึ่งจะพบว่า เหตุการณ์อัตวินิบาตกรรมของลูกจ้างที่ฟอกซ์คอนน์ครั้งนี้ เปรียบเสมือนบทเรียนสำคัญที่จีนต้องเตือนสติของตัวเองให้จงหนักว่า เส้นทางแห่งความยิ่งใหญ่ของดินแดนหลังม่านไม้ไผ่ มิได้โรยด้วยกลีบโบตั๋นเสมอไป หากแต่เรียงรายด้วยขวากหนามที่ต้องฝ่าฟัน กว่าที่จีนจะก้าวถึงฝั่งฝันของการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ