สนง.สถิติเผยคนไทย 60% มีหนี้จากการซื้อบ้าน-ที่ดิน ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 2, 2010 15:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 52 พบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 20,903 บาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการทำงานถึง 72% ส่วนที่เหลือเป็นรายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน เช่น รายได้จากดอกเบี้ย, รายได้ในรูปของสวัสดิการ เป็นต้น

ขณะที่รายจ่ายของครัวเรือนทั่วประเทศในปี 52 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 16,205 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ 34.2% เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมา 20.1% เป็นค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้าน ส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางและยานพาหนะ 17.7% แต่ทั้งนี้ยังพบว่ามีค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค เช่น ค่าภาษี, ของขวัญ, เบี้ยประกันภัย, ซื้อสลากกินแบ่ง/หวย, ค่าดอกเบี้ย สูงถึง 12.1%

ส่วนในด้านหนี้สินนั้น พบว่าครัวเรือนทั่วประเทศมีหนี้สินถึง 60.9% มีจำนวนหนี้สินเฉลี่ย 134,699 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่67.7% เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในครัวเรือน คือ การซื้อบ้าน ซื้อที่ดิน ทั้งนี้ครัวเรือนทั่วประเทศส่วนใหญ่ 82.4% เป็นหนี้ในระบบ ส่วนอีก 9.7% เป็นครัวเรือนที่มีนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ส่วนที่เหลืออีก 7.9% เป็นครัวเรือนที่มีหนี้นอกระบบอย่างเดียว พร้อมกันนี้ยังพบว่าจำนวนเงินที่ภาคครัวเรือนเป็นหนี้ในระบบนั้นสูงกว่าหนี้นอกระบบถึง 18 เท่า

ผ.อ.สำนักงานสถิติฯ กล่าวว่า การที่ครัวเรือนมีหนี้สินในระบบส่วนใหญ่จากการก่อหนี้เพื่อซื้อบ้านและที่ดินสูงนั้น อาจเป็นผลจากมาตรการการกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วยการลดภาษี ในการซื้อ/โอนบ้าน ส่วนครัวเรือนที่มีหนี้สินนอกระบบ ส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินของครัวเรือนเป็นรายภาค พบว่า กรุงเทพ ฯ และปริมณฑล 3 จังหวัด คือ นนทบุรี, ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยสูงกว่าภาคอื่นมาก คือ 37,732 บาท แต่ก็พบว่ามีค่าใช้จ่ายและหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงสุดกว่าภาคอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินต่อรายได้ พบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศตั้งแต่ปี 43 ถึง 52 มีรายได้เฉลี่ยมากกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการยังชีพ และพบว่ารายได้และค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ปี 43 ถึง 2552 เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่สัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ของครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง ขณะที่จำนวนเงินที่เป็นหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยตั้งแต่ปี 43 ถึง 52 คือ จาก 68,405 เป็น 134,699 บาท

ในการวิเคราะห์การกระจายรายได้ พบว่าความเหลื่อมล้ำของรายได้มีแนวโน้มลดลง รายได้ประจำต่อคนต่อเดือนโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 5,494 บาท ในปี 50 มาเป็น 6,319 บาท ในปี 52 โดยเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่ม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ