คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ต่อไป แต่อาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 14 ก.ค. หากปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจในยุโรปคลี่คลาย อาจจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ทั้งนี้ กนง.ได้ประเมินเหตุจลาจลทางการเมืองส่งผลให้ GDP ชะลอเกือบ 1% แต่ยังอยู่ในกรอบ 4.3-5.8% ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านีมีโอกาสจะปรับเพิ่ม GDP สูงขึ้นหากภาวะเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดี
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็ว จึงเห็นว่าควรชะลอไว้ก่อนเพื่อรอประเมินความเสี่ยงจากการเมืองและยุโรป หากปัญหาทรงตัวและคลี่คลายน่าจะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 14 ก.ค.53
สำหรับอัตราเงินเฟ้อนั้น ในการประชุมครั้งนี้พบว่าไม่ได้เร่งตัวขึ้นมากจากการประชุมครั้งก่อน แต่มีแนวโน้มลดลงด้วยซ้ำ แต่ในปี 54 แนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยปีหน้าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีโอกาสหลุดกรอบ 0.5-3.0% ได้ ซึ่งเป็นกรอบของปีนี้ กนง.จึงมองว่าความจำเป็นในการปรับดอกเบี้ยสู่ภาวะปกติน่าจะมีมากขึ้น
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษมีไว้เพื่อดูแลสถานการณ์ที่มีความเป็นพิเศษในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง กนง.ประเมินแล้วนโยบายผ่อนคลายน่าเหมาะสมในช่วงที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ขณะเดียวกันได้มีการประเมินว่าสถานการณ์พิเศษเหล่านี้ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่กลับมีปัจจัยอื่นเข้ามากระทบ
"หากดูตัวเลขส่งออก บริโภค ลงทุน ขยายตัวดี แต่กลับมีสถานการณ์การเมืองเข้ามาแทรก บวกกับปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรป จึงไม่จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยเร็วขึ้น"นายไพบูลย์ กล่าว
สำหรับปัญหาการเมืองอาจจะมีผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ใกล้ 1% ซึ่งไม่แตกต่างจากการประเมินครั้งก่อน ดังนั้น เวลานี้ยังสามารถใช้ประมาณการ GDP เดิมได้ ซึ่งได้มีการครอบคลุมสถานการณ์การเมืองไปแล้ว คิดว่าผลกระทบที่เกิดเดือนเม.ย.คงไม่หลุดกรอบที่วางไว้ แม้ขณะนี้ยังมองเห็นผลกระทบไม่ชัดเจน กรณีเลวร้ายสุด คงไม่ต่ำกว่ากรอบล่างที่วางไว้ 4.3%
ในเดือน เม.ย.ปัญหาการเมืองยังไม่กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจมาก แต่ต้องรอดูในเดือน พ.ค.เศรษฐกิจน่าจะแย่กว่า เม.ย.แต่มองว่าเรื่องมันจบเร็ว ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติ รวมถึงมีมาตราการเยียวยาของรัฐบาลทำให้การใช้จ่ายประชาชนไม่ถูกกระทบ การจ้างงานยังอยู่ในระดับสูง รายได้เกษตรกรสูง เหล่านี้จึงไม่กระทบการใช้จ่ายผู้บริโภค ดังนั้น หากไม่มีปัญหาการเมืองกลับมาใหม่ เชื่อว่าความเชื่อมั่นของประชาชนจะกลับมาเร็ว
"สามารถพูดได้เต็มปากกว่าการประเมินเศรษฐกิจคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นถ้าปัญหายุโรปส่งผลกระทบไม่มีนัยสำคัญ อาจจะมีการปรับประมาณการ GDP ปีนี้ขึ้น เพราะมองว่าเศรษฐกิจโลกดีขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อนในแง่โมเมนตั้ม แม้ยุโรปแย่ แต่สหรัฐ ญี่ปุ่น ขยายตัวดี ทำให้ส่งออกของไทยดีด้วย ในช่วงไตรมาสแรกเห็นชัดมากโต 32% เดือนเม.ย.โต 30% กว่า จึงเป็นปัจจัยใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ไปได้ แม้มีปัญหาการเมือง แต่การส่งออกมีผลมากกว่า"นายไพบูลย์ กล่าว