ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองราคาทองคำโลกยังมีโอกาสขึ้นต่อแต่อาจผันผวนสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 2, 2010 17:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าราคาทองคำในตลาดโลกยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีกในระยะที่เหลือของปีจากความต้องการลงทุนของนักลงทุนสถาบันในทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงน่าจะอยู่ในระดับสูง

ปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้ราคาทองคำยังน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูง หรือมีโอกาสขยับขึ้นได้อีก คือ ความต้องการลงทุนในทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงของนักลงทุนสถาบันที่คงจะยังอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางความซับซ้อนของปัญหาวิกฤตการคลังในยูโรโซน โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม PIIGS (โปรตุเกส อิตาลี ไอร์แลนด์ กรีซ และสเปน) ที่ยังยากจะเยียวยาในอนาคตอันใกล้

การขายทองคำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อาจมีอิทธิพลต่อราคาทองคำ บ้าง แต่คาดว่าธนาคารกลางชาติต่างๆ อาจยังมีความต้องการถือครองทองคำเพื่อทดแทนเงินยูโรที่อาจมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ในปีนี้ IMF มีแนวโน้มที่จะขายทองคำ (Quota) ออกสู่ตลาดจำนวน 191.3 ตัน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อราคาทองคำในตลาดในช่วงที่มีการทำสัญญาซื้อขาย

อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดหมายว่าการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลาง โดยเฉพาะชาติเอเชียที่มีการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ยังน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินสกุลหลักโดยเฉพาะเงินยูโร ซึ่งส่งผลกระทบต่อฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ

ธนาคารกลางในประเทศต่างๆ จึงอาจจะมีการลดการถือครองเงินสกุลหลักดังกล่าวลง ขณะที่ยังคงให้น้ำหนักกับการสะสมทองคำเป็นทุนสำรองเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนที่ปริมาณทุนสำรองในรูปทองคำ(Gold reserves)ของธนาคารกลางทั่วโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 780 ตัน(25.096 ล้านออนซ์)คิดเป็นการเพิ่ม 2.63% โดยมาจากการซื้อทองคำเพิ่มของประเทศจีนและอินเดีย

ทั้งนี้ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาจีนซื้อทองคำเพิ่มขึ้น 454 ตัน คิดเป็นการเพิ่ม 75.69% เมื่อเทียบกับปีก่อน และอินเดียซื้อทองคำเพิ่มขึ้น 200 ตัน คิดเป็นการเพิ่ม 55.90% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยข้อมูลล่าสุด ณ มี.ค.53 จีนและอินเดียถือครองทองคำอยู่ที่ 1054.1 ตันและ 557.7 ตันคิดเป็น 1.6% และ 6.9% ของปริมาณทุนสำรองทั้งหมดตามลำดับ ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าหากเทียบกับปริมาณทุนสำรองในรูปทองคำทั่วโลกที่มีอยู่ประมาณ 10% ของปริมาณทุนสำรองทั้งหมด นั่นหมายความว่ายังมีโอกาสที่จีนและอินเดียอาจมีการถือครองทองคำเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

อุปทานทองคำที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในขอบเขตที่จำกัด ช่วยหนุนราคาทองคำในระยะยาว เนื่องจากปริมาณทองคำที่ผลิตได้จากเหมืองแร่ทั่วโลกมีจำกัด โดยปัจจุบันอายุที่เหลือของเหมืองส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 25-30 ปี อีกทั้ง จากการสำรวจทองคำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าต้นทุนการสำรวจเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากการปรับปรุงความปลอดภัยในการทำงานของคนงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น อย่างไรก็ดี เป็นที่คาดกันว่า กว่าเหมืองต่างๆ จะสำรวจแหล่งทองคำและผลิตจนสามารถทำให้อุปทานเพิ่มขึ้นได้ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือน พ.ค.53 ราคาทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในขาขึ้นโดยสามารถไต่ทะลุระดับ 1,200 ดอลลาร์ฯต่อออนซ์ และทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าราคาทองในตลาดโลกจะมีการปรับฐานในช่วงกลางเดือน พ.ค.53 มาอยู่ที่ระดับประมาณ 1,100 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์

จากต้นปีจนถึงวันที่ 31 พ.ค.53 ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 100 ดอลลาร์ฯต่อออนซ์ คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2552 ซึ่งในแง่ของผลตอบแทนของทองคำในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่าทองคำให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าสินทรัพย์อื่นๆ เช่น หุ้น พันธบัตร และน้ำมัน ฯลฯ

แต่ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของราคาอาจผันผวนสูงขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนสถาบันเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วตามเหตุการณ์ นั่นหมายความว่า หากสถานการณ์แวดล้อมของเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยคาดการณ์ไว้ อาทิ ปัญหาวิกฤติหนี้ของยุโรปคลายตัวลงเร็วกว่า/ดีกว่าที่คาด หรือเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวอย่างชัดเจนและแข็งแกร่งเกินคาด จนนำไปสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) แล้ว ความต้องการลงทุนในทองคำของนักลงทุนสถาบันก็อาจปรับตัวลดลง นำมาสู่แรงเทขายเพื่อนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าได้

"แนวโน้มการปรับขึ้นของราคาทองคำโลกในระยะจากนี้ไป คงจะเผชิญกับโอกาสการปรับฐาน และความผันผวนที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้การทำกำไรระยะสั้นของนักลงทุนสถาบัน รวมไปถึงนักลงทุนรายย่อย อาจต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการจับจังหวะการลงทุนเป็นสำคัญ ขณะที่ ราคาทองคำที่พุ่งขึ้นไปมากแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี 53 อาจทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในทองคำในระยะที่เหลือของปี 53 อาจอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับผลตอบแทนกว่า 10% ที่ทำได้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ รวมถึงกว่า 20% ในปี 50 และปี 52" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ