นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สศอ.เตรียมจัดสัมนาใหญ่เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่จังหวัดนครพนม ภายใต้หัวข้อสัมมนา "ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมกับประเทศเพื่อนบ้าน : เส้นทางสารพัด R กับโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย" ในวันที่ 3 มิถุนายน 2553 โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมรับฟังแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในอนาคต พร้อมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นต่อไป
การสัมมนาจะเป็นการอภิปรายผลการศึกษาโครงการความร่วมมืออุตสาหกรรมกับประเทศเพื่อนบ้านที่ผ่านมาของ สศอ. โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการวางนโยบายพัฒนาภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะซึ่งได้เดินทางลงพื้นที่สำรวจข้อมูลมาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่สำรวจเส้นทางสาย R3W : แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-คุณหมิงและ R3E : เชียงของ-ห้วยทราย-หลวงน้ำทา-บ่อเต็น-คุณหมิง รวมทั้งอีกหลายเส้นทางที่จะสามารถพัฒนาเชื่อมโยงเป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคต โดยข้อมูลจากผู้รู้กับแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนจะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐในส่วนภูมิภาค สามารถจัดทำแผนพัฒนาที่สอดคล้องกัน และผู้ประกอบการยังจะได้รับทราบข้อมูลเชิงลึกในด้านต่างๆ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจเพื่อผลแห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ สศอ.ได้ดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมไทยคู่ขนานกับประเทศเพื่อนบ้านประกอบด้วยประเทศจีน พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และรวมไปถึงประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เนื่องจากการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาศักยภาพร่วมกันจะสร้างพลังขับเคลื่อนให้สูงขึ้น โดยมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2550 จากการศึกษาเจาะลึกลงไปในแต่ละพื้นที่ทำให้ทราบถึงจุดแข็งที่สามารถจะยกระดับการพัฒนาให้สูงขึ้นได้ เช่น การวางแนวทางพัฒนาเพื่อส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือเพื่อป้อนตลาดจีน การเตรียมผลักดันให้เกิดการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การพัฒนาฝีมือแรงงาน การส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือท่าเรือคู่แฝดระหว่างท่าเรือไทยกับท่าเรือฝางเฉิง ท่าเรือชินโจวในกวางสี ท่าเรือไฮฟอง ในประเทศเวียดนาม เป็นต้น
อนึ่ง ข้อมูลเหล่านี้ ได้มีการจัดทำเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีแผนปฏิบัติการที่สามารถดำเนินการได้ทันที โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลงานด้านต่างประเทศของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จึงต้องเร่งนำเสนอผลการศึกษาเพื่อให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ได้รับทราบแนวทางการพัฒนาจากส่วนกลางเชื่อมโยงสู่ภูมิภาค