นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 2 ปีนี้ จะขยายตัวได้มากกว่า 4% โดยได้ภาคการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ทั้งการส่งออกสินค้าประเภทเครื่องจักร, อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์
"ดัชนีชี้นำการส่งออกของไทยหลายตัว บ่งบอกว่าการส่งออกของไทยน่าจะยังขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องในเดือน พ.ค. ทำให้การผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดี และช่วยให้ GDP เติบโตได้ไม่น้อยกว่า 4% ในไตรมาส 2 หากจะให้ GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวต่ำกว่า 4% เราจะต้องเห็นตัวเลขเศรษฐกิจเดือน มิ.ย.ที่แย่มาก เช่น การส่งออกเดือน มิ.ย.ต้องโตไม่ถึง 15% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องหดตัวกว่า 70% ซึ่งมองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
สำหรับความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้น SCB EIC มองว่า ในระยะสั้นแม้บางอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบหนักมาก แต่ผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมอาจไม่รุนแรงอย่างที่คิด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีโครงสร้างที่ดี ปัญหาการเมืองเพียงอย่างเดียวมักไม่นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจโดยตรง อีกทั้งการส่งออกซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังดีอยู่
นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังมีโครงสร้างที่ดี เพราะประเทศที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจส่วนใหญ่มักเกิดจาก 3 สาเหตุหลัก คือ การขาดดุลชำระเงินสูงต่อเนื่อง, ปัญหาในภาคการเงินการธนาคารที่มีหนี้เสียในระดับสูง และปัญหาด้านการคลัง หรือรัฐบาลขาดดุลการคลังมาก มีหนี้สินล้นพันตัว
"สำหรับไทยในตอนนี้ยังมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจต่ำเพราะ เรามีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 1.4 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าหนี้สินต่างประเทศราว 2 เท่า ส่วนหนี้สินของภาคเอกชนก็ต่ำกว่าในอดีต ในขณะที่หนี้สินภาครัฐหรือหนี้สาธารณะอยู่ที่ราว 42% ของ GDP เท่านั้น" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
อย่างไรก็ดี ผลกระทบระยะยาวยังน่ากังวลเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกระทบความมั่นใจของลูกค้าส่งออกและนักลงทุนต่างประเทศที่อาจหันไปลงทุนในประเทศอื่นแทน ซึ่งเป็นการเสียโอกาสและมีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะด้านการส่งออก การลงทุนและการท่องเที่ยวที่อาจประสบปัญหาจากแนวโน้มเงินบาทแข็งค่า
จากปัญหาการเมืองที่มีการปิดถนนจนกระทบไปถึงการส่งออก (อย่างกรณีปิดถนนใกล้ท่าเรือแหลมฉบังจนมีการส่งออกน้ำตาลล่าช้า) หรือถึงขั้นปิดท่าเรือหรือสนามบินจริง ก็มีผลกระทบความเชื่อมั่นของลูกค้าที่กังวลว่าผู้ส่งออกไทยจะส่งของได้ไม่ตรงเวลา และอาจทำให้เขาไปสั่งซื้อสินค้าจากคู่แข่ง และทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติอาจหันไปลงทุนในประเทศอื่นแทน ซึ่งต่อให้ปัญหาการเมืองจบแล้วเราอาจไม่สามารถจูงใจให้ลูกค้าหรือนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติหันกลับมายังประเทศไทยได้ง่ายนัก
เช่นเดียวกันในด้านการท่องเที่ยว ปัญหาทางการเมืองก็ทำให้กว่า 10 ประเทศซึ่งมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวประมาณ 30% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ประกาศเตือนนักท่องเที่ยวให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมากรุงเทพฯ และประเทศไทยแล้ว และก็ยากที่จะคาดเดาว่าเมื่อไรการท่องเที่ยวจะฟื้นกลับมาดีเหมือนเดิม