สสว.คาดจีดีพี SMEs ปีนี้โต 3.8-4.2% การเมืองไม่ส่งผลกระทบมากนัก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 7, 2010 13:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)กล่าวว่า แม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากนัก โดยคาดว่าจีดีพีในส่วนของเอสเอ็มอีจะขยายตัวประมาณ 3.8-4.2% การส่งออกของเอสเอ็มอีขยายตัวประมาณ 15.5%

ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.5-4.5% เศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.0-4.5% ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 85 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 33-34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แต่อย่างไรก็ตามก็จะต้องมีการติดตามปัจจัยต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า เอสเอ็มอีไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะจากสถานการณ์ทางเมืองทำให้ต้นทุนของเอสเอ็มอีปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 13.7-16.7% โดยเอสเอ็มอีจะต้องให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศมากขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะเดินทางมาไทยน้อยลง ทั้งปัจจัยลบจากการเมืองในประเทศ ปัญหาด้านการเงินของยุโรป และจะต้องเร่งขยายตลาดไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดจีน อาเซียน เป็นต้น เพราะถือเป็นตลาดที่กำลังมีการเติบโต รวมถึงต้องบริหารจัดการด้านการปรับลดต้นทุนที่เกิดขึ้น

ด้านนายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ภาคเอสเอ็มอีของไทยยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าปีนี้ยังขยายตัวประมาณ 2.6-4.5% และการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง แต่ยอมรับว่าปัจจัยลบทางเมืองส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของจีดีพีให้ปรับตัวลดลงประมาณ 1.4-3.7% โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าความเสียหายกว่า 1.3 แสนล้านบาท แต่เชื่อว่าถ้าเหตุการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ การท่องเที่ยวก็จะฟื้นภายใน 5-6 เดือน ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวให้กลับคืนมาโดยเร็ว

ทั้งนี้ มองว่าเอสเอ็มอีที่มีทิศทางขยายตัวได้ดีหลังจากนี้ คือ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร เกษตร เกษตรแปรรูป เป็นต้น โดยธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าว่าในปี้นีจะสามารถปล่อยสินเชื่อขยายตัวประมาณ 8 — 10%

นายปกรณ์ กล่าวว่า ได้มีการประเมินความเสียหายจากเหตุความไม่สงบทางการเมืองของผู้ประกอบการในพื้นที่ที่มีการชุมนุม มีประมาณกว่า 3,000 ราย คิดเป็นยอดสินเชื่อ 5,600 ล้านบาท แต่มีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจริงประมาณ 1,400 ราย คิดเป็นเงินกว่า 2,000 ล้านบาท แต่มีผู้เข้ามาขอรับสินเชื่อเพียง 17 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 370 ล้านบาท อาจมีผู้ประกอบการทยอยเข้ามาขอรับการช่วยเหลือเพิ่ม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ