ปลัดกระทรวงการคลัง ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เป็นผลจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ในช่วงเวลา 74 วัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1.45 แสนล้านบาท หรือ 1.5% ของจีดีพี จากประมาณการจีดีพีทั้งปีขยายตัวอยู่ที่ 4-5%
นายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 ที่มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นสามารถแยกเป็น ด้านการท่องเที่ยวทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเหลือ 14.1 ล้านคน หรือลดลง 0.3% คิดเป็นเม็ดเงินสูญเสียด้านการท่องเที่ยว 53,000 ล้านบาท
ด้านการบริโภคมีกระทบต่อคนกรุงเทพฯ จำนวน 5.7 ล้านคน คิดเป็นเงิน 21,000 ล้านบาท ส่วนผลกระทบกับอีก 23 จังหวัดที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน คิดเป็นเงิน 12,000 ล้านบาท รวมเป็น 33,000 ล้านบาท
ด้านการลงทุนส่งผลกระทบให้การขยายตัวในช่วงไตรมาส 2 ลดลง 10% และช่วงไตรมาส 3 ลดลง 5% คิดเป็นเงินสูญเสียภาคเอกชนประมาณ 60,000 ล้านบาท เมื่อรวมความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมดคิดเป็นเงินประมาณ 145,000 ล้านบาท หรือ 1.5% ของจีดีพี
ขณะที่นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกสูงเกินคาดการณ์ แต่ในเดือน เม.ย.ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง เนื่องจากผลกระทบการชุมนุมทางการเมือง ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ภาคธุรกิจ และจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง
อย่างไรก็ดี หากมองแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ขึ้นอยู่กับการส่งออกกว่า 70% ของจีดีพี ปรากฎว่า การส่งออกมีอัตราการขายตัวสูงมากในไตรมาสแรกถึง 32% ส่งผลต่อเนื่องให้ขยายตัวต่อในเดือน เม.ย. ส่วนเดือน พ.ค.สถานการณ์การเมืองอาจทำให้เกิดผลกระทบบ้าง โดย ธปท.คาดการณ์ว่าแม้อัตราการขยายตัวการส่งออกจะชะลอลง แต่เมื่อได้พูดคุยกับผู้ประกอบการพบว่ายังมีคำสั่งซื้อที่ค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่อง ในภาพรวมแม้เศรษฐกิจในประเทศจะชะลอตัวลงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แต่เมื่อแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจโลกยังเป็นปัจจัยบวกจึงคาดว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตในอัตรา 4.3-5.8%
ด้านนายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในปี 53 คาดว่า จะสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ โดย 7 เดือนแรกมีรายได้สุทธิ 839,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากประมาณการ 201,422 ล้านบาท หรือ 31.6% คาดว่าตลอดทั้งปีจะจัดเก็บรายได้เกินกว่าเป้า 221,000 ล้านบาท หรือ 16.4% โดยการเพิ่มขึ้นมาจากการปรับปรุงอัตราภาษีสรรพสามิต และรายได้จากการส่งออกที่กระจายไปในทุกกลุ่มสินค้า และทุกตลาดในโลก ส่วนภาษีสรรพากรเก็บได้เพิ่มขึ้นจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีรายได้เพิ่มเติมจากการยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 49,016 ล้านบาท
ส่วนนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) รายงานว่า ภาพรวมหนี้สาธารณะมียอดหนี้อยู่ที่ 4.125 ล้านล้านบาท หรือ 42.4% ของจีดีพี หากมีการกู้เงินตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระรวงการคลังกู้เงิน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเต็มจำนวน 4 แสนล้านบาท จะทำให้ปริมาณหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีก 2% ไปอยู่ที่ 44.5%