IMF กดดันรัฐบาลยูโรโซนเร่งดำเนินการขั้นเด็ดขาดเพื่อฟื้นฟูระบบการเงินในภูมิภาค

ข่าวต่างประเทศ Tuesday June 8, 2010 11:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกมาเร่งรัดให้กลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร หรือ ยูโรโซน ดำเนินมาตรการที่เด็ดขาดในการลดยอดขาดดุลงบประมาณที่กำลังทำลายความเชื่อมั่นในตลาดการเงินทั่วโลก

"ผู้ที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายจำเป็นต้องดำเนินการที่เด็ดขาดเพื่อความเป็นเอกภาพทางการเงินของภูมิภาค" ไอเอ็มเอฟระบุในรายงานเรื่องเศรษฐกิจยูโรโซน

ไอเอ็มเอฟระบุว่า การจัดการรับมือกับวิกฤตที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้นั้น ย่อมนำไปสู่การปรับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยการสร้างเสถียรภาพทางการคลัง การรักษาระดับการขยายตัว และการเร่งเดินหน้าปฏิรูประบบการเงิน ถือเป็นหนึ่งในงานเร่งด่วนที่ยูโรโซนต้องรีบดำเนินการ

"วิกฤตที่เกิดขึ้นในยูโรโซนขณะนี้เป็นผลมาจากนโยบายที่ไม่ยั่งยื่นของบางประเทศ ตลอดจนการแก้ไขระบบการเงินที่ล่าช้า การขาดแคลนระบบบริหารจัดการที่ดีในยูโรโซน และความชะงักงันในการจัดทำระเบียบข้อบังคับและความยืดหยุ่นที่จำเป็นสำหรับความเป็นเอกภาพทางการเงิน" ไอเอ็มเอฟกล่าวในรายงาน

รายงานระบุด้วยว่า สถานะการคลังของยูโรโซนจะยังคงมีสภาพที่เป็นกลางในปีนี้ เนื่องจากประเทศต่างๆที่สามารถจัดการกับหนี้ได้ จะยังคงเจียดงบประมาณมากระตุ้นการฟื้นตัวของประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่ไอเอ็มเอฟเตือนว่า ทุกประเทศในยูโรโซนจะต้องเริ่มปรับลดการขาดดุลการคลังในปี 2554 เป็นอย่างช้าที่สุด

อย่างไรก็ดี ไอเอ็มเอฟได้กล่าวชมธนาคารกลางยุโรปในเรื่องของนโยบายการเงิน โดยกล่าวถึงการดำเนินการที่ชัดเจนของอีซีบีในการป้องกันไม่ให้เกิดสภาพสินเชื่อตึงตัวรุนแรงในเศรษฐกิจบางประเทศ พร้อมกับเรียกร้องให้อีซีบีคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยยังสามารถอยู่ที่ระดับต่ำต่อไปได้ เพราะความเสี่ยงเกี่ยวกับเสถียรภาพด้านราคายังคงอยู่อีกห่างไกล

รายงานของไอเอ็มเอฟมีขึ้นในขณะที่รมว.คลังของยุโรปได้อนุมัติการจัดตั้งกองทุนเงินกู้ฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ประสบภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว โดยเจ้าหน้าที่อียูหวังว่า การบังคับใช้อย่างเป็นทางการของกองทุนมูลค่า 7.5 แสนล้านยูโร (8.93 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งได้ประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนที่แล้วนั้น จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่สูญเสียไปเนื่องจากไม่มั่นใจว่ารัฐบาลของชาติยุโรปจะสามารถชำระคืนหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นได้

นอกจากนี้ อีกความคืบหน้าหนึ่ง รมว.คลังอียูได้เห็นชอบเรื่องการจัดทำกฎใหม่ที่จะช่วยให้ประเทศอื่นๆเข้าแทรกแซงได้ก่อนที่ประเทศที่เป็นหนี้จะแบกรับหนี้สูงจนเกินไป ซึ่งหมายความว่า งบประมาณของชาติสมาชิกจะต้องถูกนำมาเปิดเผยให้ชาติสมาชิกด้วยกันรับทราบก่อนที่จะมีการนำไปแก้ปัญหากันในประเทศ

ขณะเดียวกัน เมื่อวานนี้ เยอรมนีได้เปิดเผยรายละเอียดของมาตรการลดรายจ่ายมูลค่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์ และนายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ออกมาเตือนประชาชนในประเทศให้เตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการลดรายจ่ายที่จะส่งผลกระทบต่อชาวอังกฤษทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยรัฐบาลอังกฤษมีกำหนดที่จะแถลงงบประมาณฉุกเฉินซึ่งรวมถึงการให้รายละเอียดของมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลในอีกสองสัปดาห์หน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ