ค่าเงินปอนด์ร่วงลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (8 มิ.ย.) หลังจากฟิทช์ เรทติ้งส์ เตือนว่า อังกฤษกำลังเผชิญปัญหาด้านการคลัง พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การนำของนายเดวิด คาเมรอน เร่งลดยอดขาดดุลงบประมาณ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้แรงหนุนหลังจาก เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยรอบใหม่
ค่าเงินปอนด์ดิ่งลง 0.31% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่ระดับ 1.4422 ดอลลาร์ จากระดับของวันจันทร์ที่ 1.4467 ดอลลาร์ และเงินยูโรดีดขึ้น 0.30% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่ระดับ 1.1950 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1914 ดอลลาร์
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้น 0.09% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 91.400 เยน จากระดับของวันจันทร์ที่ 91.320 เยน แต่ร่วงลง 0.91% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.1528 ฟรังค์ จากระดับ 1.1634 ฟรังค์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 2.20% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ 0.8270 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันจันทร์ที่ 0.8092 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ทะยานขึ้น 1.31% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ 0.6674 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6588 ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินปอนด์ร่วงลงทันทีที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ เตือนว่า อังกฤษกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านการคลังซึ่งยากที่จะจัดการ และชี้ถึงความจำเป็นที่รัฐบาลผสมชุดใหม่ของอังกฤษจะต้องเร่งเดินหน้าแผนการลดยอดขาดดุลงบประมาณให้เร็วขึ้นกว่าที่รัฐบาลชุดก่อนได้ประกาศไว้เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา
โดยฟิทช์ระบุในรายงานพิเศษที่มีการเผยแพร่เมื่อวานนี้ว่า รัฐบาลอังกฤษต้องกำหนดแผนการที่ยากกว่าที่รัฐบาลชุดก่อนได้ประกาศไว้ โดยรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคแรงงานของอดีตนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะลดยอดขาดดุลให้ลงมาเหลือ 8.5% ของจีดีพีในปีงบประมาณ 2554/2555 และลงมาเหลือ 5.2% ในปี 2556/2557
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน มีกำหนดการที่จะแถลงงบประมาณฉุกเฉินในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ ซึ่งรวมถึงการเปิดเผยรายละเอียดของมาตรการหั่นรายจ่ายของรัฐเพื่อลดตัวเลขขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะ
ส่วนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้แรงหนุนหลังจากเบอร์นันเก้กล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ ABC News ที่วอชิงตัน ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวในระดับปานกลางและไม่มีแนวโน้มที่จะเผชิญภาวะถดถอยรอบใหม่ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed fund rate) จากระดับต่ำสุดในปัจจุบันที่ 0 - 0.25% ก่อนที่การจ้างงานในสหรัฐจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่
การแสดงความคิดเห็นของเบอร์นันเก้ นอกจากจะช่วยหนุนค่าเงินดอลลาร์แล้ว ยังเป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินยูโรด้วย เพราะทำให้นักลงทุนคลายจากความวิตกกังวลที่ว่าวิกฤตการณ์การเงินในยุโรปอาจลุกลามไปทั่วภูมิภาคแอตแลนติก โดยเบอร์นันเก้กล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับ ABC News ว่า ผู้นำยุโรปดำเนินการมาอย่างถูกทางแล้วในการควบคุมยอดขาดดุลงบประมาณ
สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ยอดส่งออกเดือนเม.ย.หดตัวลง 5.9% จากเดือนมี.ค. มาอยู่ที่ระดับ 7.53 หมื่นล้านยูโร หรือ 8.99 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ยอดนำเข้าเดือนเม.ย.ลดลง 7.5% จากเดือนมี.ค. สู่ระดับ 6.19 หมื่นล้านยูโร
อย่างไรก็ตาม คาร์สเต็น เบอร์เซสกี้ นักวิเคราะห์จากไอเอ็นจี กล่าวว่า การที่ยอดส่งออกเดือนเม.ย.หดตัวลงเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมส่งออกเข้าสู่ระยะ "พักฐาน" และเชื่อว่ายอดส่งออกเยอรมนียังคงมีแนวโน้มที่แข็งแกร่ง เนื่องจากดีมานด์ทั่วโลกยังคงแข็งแกร่งและสกุลเงินยูโรที่อ่อนค่าลง
นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่ทางการสหรัฐจะเปิดเผยในสัปดาห์นี้ โดยวันพุธ กระทรวงพาณิชย์จะเปิดเผยข้อมูลสต็อกสินค้าภาคค้าส่งเดือนเม.ย. และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book ส่วนวันพฤหัสดี กระทรวงแรงงานจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และวันศุกร์ จะมีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐขั้นต้นประจำเดือนมิ.ย.