กลุ่มสิทธิแรงงานสากลเผยว่า การแข่งขันฟุตบอลโลกที่แอฟริกาใต้ ซึ่งจะเปิดฉากขึ้นในวันศุกร์นี้จะช่วยกระตุ้นให้บริษัทผลิตอุปกรณ์กีฬาชั้นนำทำยอดขายได้อย่างมหาศาล ขณะที่แรงงานชาวเอเชียผู้เย็บลูกฟุตบอลมีชีวิตที่ดีขึ้นเพียงเล็กน้อย ท่ามกลางสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น
รายงานจากที่ประชุมด้านสิทธิแรงงานสากลในกรุงวอชิงตันระบุว่า แม้ว่าบริษัทผลิตอุปกรณ์กีฬาชื่อดังอย่างอาดิดาสและไนกี้ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรด้านแรงงานและการพัฒนาเพื่อยุติการใช้แรงงานเด็กราว 7,000 คนเย็บลูกฟุตบอลตั้งแต่เมื่อ 13 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันประเทศหลักๆที่เป็นแหล่งผลิตลูกฟุตบอลอย่างปากีสถาน จีน อินเดีย และไทย ยังคงมีการใช้แรงงานเด็กอยู่ ซึ่งแรงงานเหล่านี้ได้รับค่าจ้างไม่พอต่อการจุนเจือครอบครัว
โดยลูกฟุตบอลจากเมืองจีนส่วนใหญ่ผลิตขึ้นโดยใช้เครื่องจักร แต่ยังมีบางบริษัทว่าจ้างแรงงานท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้หญิงและเด็กให้มาเย็บลูกบอล ขณะที่แรงงานเด็กในอินเดียยังคงเย็บลูกฟุตบอลด้วยมือ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานผลสำรวจลูกจ้าง 218 คนในบริษัทที่ปากีสถาน ซึ่งรับจ้างผลิตลูกฟุตบอลและผลิตภัณฑ์กีฬาให้กับแบรนด์ชั้นนำระดับโลกอย่างไนกี้และอาดิดาสว่า กว่าครึ่งหนึ่งของพนักงานจำนวนนี้ได้รับค่าจ้างต่ำกว่ารายได้ขั้นต่ำต่อเดือนของปากีสถานที่ 6,000 รูปี (70 ดอลลาร์)
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลปากีสถานได้ปรับขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำเป็น 7,000 รูปี แต่รัฐบาลอาจจำเป็นต้องขึ้นรายได้ขั้นต่ำอีก 2 เท่าเพื่อให้ลูกจ้างเหล่านี้สามารถหารายได้มาเลี้ยงดูครอบครัวที่มีสมาชิกโดยเฉลี่ย 7 คน ขณะที่ธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ คาดการณ์ว่า 25% ของชาวปากีสถาน 180 ล้านคนมีเงินใช้จ่ายในวันหนึ่งไม่ถึง 1 ดอลลาร์
ทั้งนี้ อาดิดาส เป็นผู้ให้การสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลโลกและให้การสนับสนุนทีมฟุตบอล 12 ใน 32 ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน โดยบริษัทตั้งเป้าทำยอดขายสินค้าในศึกลูกหนังครั้งนี้ให้ได้เหนือกว่าระดับ 1.3 พันล้านยูโรที่เคยทำไว้ในปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่มีการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ยูโร 2008 ขณะที่ไนกี้ ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนสโมสรฟุตบอล 10 ทีม ต้องการชิงส่วนแบ่งการครองตลาดฟุตบอลของอาดิดาส