รมช.คลังเซ็นสัญญากู้เงิน WB-ADB ก่อสร้างถนนเชื่อมยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 11, 2010 11:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง ลงนามในร่างสัญญากู้เงินสำหรับโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร(ระยะที่ 2) กับธนาคารโลก(WB) และธนาคารพัฒนาเอเชีย(ADB) โดยมี Ms. Annette Dixon, Country Director, Thailand World Bank และ Mr. Kunio Senga, Director General of Southeast Asia Department, Asian Development Bank (ADB) เป็นผู้แทนธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชียลงนามในสัญญาเงินกู้ตามลำดับ

โดยโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร(ระยะที่ 2) นี้ เป็นโครงการที่รองรับและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกรมทางหลวง ประกอบด้วย

1.เส้นทางสนับสนุนการพัฒนาแนวเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก(East-West Economic Corridor) เป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างประเทศเวียดนาม-ลาว-ไทย-พม่า เพื่อรองรับด้านการค้า บริการ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต และเป็นเส้นทางเชื่อมโยงการส่งสินค้าระหว่างท่าเรือด้านทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามัน

2.เส้นทางสนับสนุนการเชื่อมโยงเข้าสู่พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก(Eastern Seaboard) เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการขนส่งสินค้าระหว่างภาคต่างๆกับท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และแหล่งอุตสาหกรรมต่างๆบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก

3.เส้นทางสนับสนุนการเชื่อมโยงเข้าสู่พื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ด้านตะวันออก-ตะวันตก(East-West Southern Coast Corridor) เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการลงทุนบริเวณพื้นที่ภาคใต้

โดยสัญญาเงินกู้ระหว่างธนาคารโลกกับรัฐบาลไทย มีวงเงินกู้ 79.30 ล้านเหรียญสหรัฐ ค่าธรรมเนียมการกู้เงิน(Front-end Fee) ร้อยละ 0.25 ของวงเงินกู้ และใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสกุลเงินเหรียญสหรัฐ ตามอัตราเงินกู้ระหว่างธนาคารในลอนดอนระยะ 6 เดือน (LIBOR) บวกส่วนต่าง (Spread) ของธนาคารโลกซึ่งจะปรับอัตราดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ปัจจุบัน Spread ของธนาคารโลก คืออัตราร้อยละ 0.17 ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวสกุลเงินเหรียญสหรัฐจะอยู่ที่ร้อยละ 0.79 (อัตรา LIBOR+0.17=0.79) กำหนดระยะเวลาการกู้เงิน 15 ปี รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 5 ปี ขอบเขตของโครงการประกอบด้วยแผนงานก่อสร้างจำนวน 5 สายทาง มีระยะทางรวม 216 กิโลเมตร คือ ทางหลวงหมายเลข 201 เส้นทางสีคิ้ว-ชัยภูมิ ตอน สีคิ้ว-บ.หนองบัวโคกระยะทาง 60 กิโลเมตร, ทางหลวงหมายเลข 24 เส้นทางสีคิ้ว-อุบลราชธานี ตอน อ.นางรอง-อ.ปราสาท ระยะทาง 65 กิโลเมตร, ทางหลวงหมายเลข 331 เส้นทางสีคิ้ว-พนมสารคาม ตอน แยกทางหลวงหมายเลข 36-บรรจบทางหลวงหมายเลข 3(สัตหีบ) ระยะทาง 28 กิโลเมตร, ทางหลวงหมายเลข 4 เส้นพังงา-กระบี่ ตอน 3 ระยะทาง 27 กิโลเมตร และทางหลวงหมายเลข 408 เส้นทางนครศรีธรรมราช-สงขลา ตอน อ.ระโนด-อ.สทิงพระ ระยะทาง 36 กิโลเมตร

ส่วนสัญญาเงินกู้ระหว่างธนาคารพัฒนาเอเชียกับรัฐบาลไทย มีวงเงินกู้ 77.10 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวของเงินกู้สกุลเงินเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีวิธีคำนวณตามอัตราต้นทุนการกู้เงินของ ADB บวกส่วนต่างและหักลบอัตราส่วนลด (Rebate) ซึ่งธนาคารพัฒนาเอเชียจะปรับอัตราดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ LIBOR+0.20-Rebate กำหนดระยะเวลาการกู้เงิน 15 ปี รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 5 ปี ขอบเขตของโครงการ ประกอบด้วย แผนงานก่อสร้างจำนวน 2 สายทาง มีระยะทางรวม 178 กิโลเมตร ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข 12 เส้นทางพิษณุโลก-หล่มสัก ระยะทาง 105 กิโลเมตร และทางหลวงหมายเลข 359 เส้นทางพนมสารคาม-สระแก้ว ระยะทาง 73 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ภายใต้เงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชียสำหรับโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ดังกล่าว ธนาคารพัฒนาเอเชียยังได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ (Technical Assistance: TA) สำหรับโครงการศึกษาและแผนกลยุทธ์การดำเนินงานพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายสำคัญ (Strategic Intercity Motorway Network Technical Assistance Project (TA 7483-THA)) วงเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยธนาคารพัฒนาเอเชียจะให้การสนับสนุนเงินจากกองทุน Japan Special Fund ของรัฐบาลญี่ปุ่นในรูปแบบให้เปล่า (Grant Basis) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำรายละเอียดเส้นทางของทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และจัดลำดับความสำคัญของเส้นทางเพื่อให้สามารถเตรียมดำเนินโครงการที่มีลำดับความสำคัญสูงสุด โดยลงทุนในรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ