โพลล์ เผยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อศก.ปีนี้โต 4.3% ส่งออกช่วยขับเคลื่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 16, 2010 10:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์เรื่อง "ทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจ หลัง นปช. ยุติการชุมนุม" พบว่า นักเศรษฐศาสตร์มากถึง 86.6% ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปี 53 จะขยายตัวดีขึ้นจากปี 52 โดยคาดว่าจะเติบโตในระดับ 4.3% แม้จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดง รวมถึงปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะของประเทศในยุโรป ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่าการส่งออกจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง

สำหรับประเด็นวิกฤติหนี้สาธารณะของกรีซและประเทศในแถบยุโรปนั้น นักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นต่างกันเป็น 2 กลุ่มในสัดส่วนที่เท่ากัน คือ 44.8% มองว่า วิกฤติดังกล่าวจะไม่ลุกลามและไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่อีก 44.8% กลับมองว่า วิกฤตินี้จะลุกลามและนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง แต่คงไม่เท่ากับวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐฯ

จากปัจจัยปัญหาทางการเมืองของไทยและวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปนั้น นักเศรษฐศาสตร์ 50.7% มองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.25% ไปจนถึงสิ้นปีเป็นอย่างน้อย เนื่องจากการคงอัตราดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก และยังช่วยภาคธุรกิจ ส่งเสริมการลงทุน ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันไม่สูงมากนัก ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันจึงถือว่าเหมาะสม

ส่วนปัจจัยที่มองว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังนั้น นักเศรษฐศาสตร์ถึง 71.6% มองว่าอันดับแรกเป็นปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล รองลงมา 55.2% มองว่าเป็นปัญหาการชุมนุมประท้วงที่อาจจะเกิดขึ้นอีก และอันดับสาม 53.7% เป็นปัญหาความเชื่อมั่นของนักลงทุน(การลงทุนทางตรง)

พร้อมกันนี้ ยังมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปี 53 ภายใต้แนวคิด "3 (อย่าง)สร้างประเทศไทย" ประกอบด้วย 1.สร้างเศรษฐกิจ ด้วยการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ โดยเฉพาะงบไทยเข้มแข็งฯ ที่จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของเศรษฐกิจ การกระตุ้นการท่องเที่ยว การบริโภค ช่วยเหลือ SMEs และภาคการเกษตร ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศมีการขับเคลื่อนที่ดีขึ้นลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจากภายนอก

2.สร้างความเชื่อมั่น ทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวด้วยการออกมาตรการต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม และให้สัญญาว่าเหตุการณ์อย่างกรณีมาบตาพุดหรือกรณีการชุมนุมประท้วงทางการเมือง(ที่มีความรุนแรง) จะไม่เกิดขึ้นอีก

3.สร้างความปรองดอง เพื่อความแข็งแกร่งของประเทศในระยะยาว ด้วยการดำเนินการตามแผนปรองดอง การกำหนดให้การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยเป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง

ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 25 แห่ง โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 8-14 มิ.ย.53


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ