ก.เกษตรฯระบุสถานการณ์ราคา-การผลิตสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ยังปรับตัวสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 16, 2010 14:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามและประเมินสถานการณ์ราคาและการผลิตสินค้าเกษตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ล่าสุดพบว่า สินค้าที่ออกสู่ตลาดมากส่วนใหญ่เป็นผลไม้ชนิดต่างๆ โดยคาดว่าผลผลิตทุเรียนจะออกสู่ตลาด 57,390 ตัน คิดเป็นร้อยละ 8.81, เงาะ 76,166 ตัน คิดเป็นร้อยละ 20.99, มังคุด 36,968 ตัน คิดเป็นร้อยละ 13.23, ลิ้นจี่ออกสู่ตลาด 13,466 ตัน คิดเป็นร้อยละ 30.90 และลองกองผลผลิตออกสู่ตลาด 38,122 ตัน คิดเป็นร้อยละ 22.18 ของผลผลิตทั้งหมดของผลไม้แต่ละชนิด

สำหรับข้าวนาปรังเดือนมิถุนายนนี้ คาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาด 1.273 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 15.51 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

สำหรับราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นาสัปดาห์นี้ ส่วนใหญ่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมากได้แก่ ทุเรียน เงาะโรงเรียน มังคุด ปาล์มน้ำมันและไก่เนื้อ โดยปาล์ม น้ำมันราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในช่วงนี้คุณภาพดีเปอร์เซ็นต์น้ำมันค่อนข้างสูง ผลไม้ราคาสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตจากภาคตะวันออก ออกสู่ตลาดลดลง ส่วนไก่เนื้อราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยซึ่ง เป็นผลมาจากสภาพอากาศร้อนทำให้ไก่โตช้า

อย่างไรก็ตาม ยางพารา และ ลองกอง ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางที่ลดลงเล็กน้อยแต่ระดับราคายังคงใกล้เคียงกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าคาดว่า ราคาจะยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์แนวโน้มภาพรวมดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นา ในเดือนมิถุนายนนี้จะยังคงเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก และอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้นได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่

ส่วนสินค้าที่ราคาลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ข้าวนาปรัง ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาวแวนนาไม

และเมื่อจำแนกดัชนีราคาสินค้าเกษตรเป็นหมวดสินค้าพบว่า หมวดสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นในเดือนพฤษภาคม ได้แก่ หมวดพืชอาหารและธัญพืช เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง หมวดพืชพลังงาน ได้แก่ อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง หมวดพืชไม้ยืนต้น ได้แก่ ยางพารา และพริกไทย สำหรับหมวดพืชไม้ผล สินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ทุเรียนหมอนทอง ลิ้นจี่ และลองกอง ส่วนหมวดพืชผัก เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน ดัชนีก็สูงขึ้นเช่นกันถึงร้อยละ 8.95

และสุดท้าย หมวดปศุสัตว์ ดัชนีราคาสูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.43 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน พบว่า ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 3.09 สำหรับหมวดพืชน้ำมัน และ หมวดประมง ยังคงมีดัชนีราคาลดลง โดยในหมวดพืชน้ำมัน พบว่าดัชนีราคาลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.50 ซึ่งสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ถั่วเหลือง มะพร้าว และปาล์มน้ำมัน ส่วนหมวดประมง ดัชนีราคาลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.00 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดัชนีลดลงร้อยละ 2.55

สำหรับการคาดการณ์ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนมิถุนายนนี้ คาดว่าดัชนีผลผลิตจะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากอยู่ในช่วงต้นฤดูกาลเพาะปลูกสินค้าที่สำคัญได้แก่ ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง แต่อย่างไรก็ตาม ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และปศุสัตว์ ยังคงมีผลผลิตออกสู่ตลาดใกล้เคียงกับเดือนพฤษภาคม ส่วนผลไม้คาดว่าผลผลิตจะลดลงเล็กน้อย

นายธีระ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจะยังคงติดตามและปริมาณสถานการณ์ดัชนีราคาและผลผลิตของเกษตรกรอย่างเป็นประจำ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลกำหนดมาตรการรองรับปัญหาราคาผลผลิตที่จะตกต่ำของเกษตรกรในแต่ละรายสินค้าอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ