ส.ชาวนาขานรับนโยบายลดรอบปลูกข้าว แนะรัฐทำความเข้าใจกับเกษตรกรแต่เนิ่นๆ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 16, 2010 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตามที่ที่ประชุม กขช.มีมติเห็นชอบแผนการจัดระบบการเพาะปลูกข้าวของประเทศไทยให้เหลือแค่ 2 ครั้งต่อปี คือนาปี 1 ครั้ง และนาปรัง 1 ครั้ง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าว โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอนุมัติใช้ตั้งแต่ช่วงการปลูกข้าวนาปรังปี 54-56 รวมระยะเวลา 3 ปี กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 22 จังหวัดในเขตชลประทาน ดำเนินการปีละ 3 ล้านไร่ รวม 9 ล้านไร่ ใช้งบประมาณสนับสนุน 2,180 ล้านบาท

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ส่วนตัวขานรับนโยบายจัดระบบการเพาะปลูกข้าวของประเทศไทยให้เหลือแค่ 2 ครั้งต่อปี แต่แนะรัฐเร่งทำประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับชาวนาตั้งแต่ตอนนี้ เพราะห่วงว่าอาจเกิดปัญหาตามมา และเมื่อมีมติออกมาแบบนี้ภาครัฐก็ต้องวางแนวทางรองรับ แนวทางแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่อาจตามมาในอนาคตให้ครอบคลุมในทุกด้านและทุกเรื่อง

*คิดว่าเกษตรกรจะเข้าใจและพร้อมให้ความร่วมมือหรือไม่

"ดีแล้วที่มีมติออกมาแบบนี้ ถ้าขืนปล่อยให้ทำนากันแบบตามใจชอบต่อไปปัญหาก็จะเกิดมากยิ่งขึ้น ทั้งดินเสีย โรคแมลง ไม่มีการตัดตอนการเจริญเติบโตของโรคต่างๆ แล้วการทำนาหลายครั้งต่อปีพี่น้องเกษตรกรก็ต้องใช้ทุนเพิ่มขึ้น ทั้งค่าปุ๋ย เพิ่มยาฆ่าแมลง แล้วผลผลิตก็จะแย่ลง"

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯระบุว่าการปลูกข้าวปัจจุบันทำให้เกษตรกรมีต้นทุนสูง โดยเฉพาะนาปรังมีต้นทุนสูงถึงตันละ 6,760 บาท แต่การปลูกข้าวแบบใหม่จะทำให้ต้นทุนลดลง 1,037 บาทต่อตัน โดยจำนวนการปลูกน้อยลงแต่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 20%

*รัฐควรทำความเข้าใจอย่างไร

"แค่การออกนโยบายอย่างเดียวคึงไม่พอ ที่สำคัญคือรัฐต้องเร่งทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกรตั้งแต่ตอนนี้ รวมถึงมาตรการที่จะออกมารองรับแผนดังกล่าว เช่น ลดการทำนา แต่หาพันธุ์พืชให้ปลูกทดแทนรายได้ที่อาจขาดหายไปจากการลดรอบการทำนา

"รัฐบาลจะต้องเริ่มทำการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจก่อนที่จะทำงาน ชี้แจงทำความเข้าใจในหลายๆประเด็น หลายๆด้าน ถ้าไปชี้แจงแล้วทำงานเลยก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้ง...ผมเชื่อว่าชี้แจงตั้งแต่เนิ่นๆ เกษตรกรก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ทำการประชาสัมพันธ์ตั้งแต่ตอนนี้เลย เริ่มได้แล้ว จะมีมาตรการอะไรมาส่งเสริมรายได้ ให้ปลูกพืชอะไรทดแทนก็เริ่มทำได้เลย อย่างจะเริ่มใช้แนวทางดังกล่าวตั้งแต่ปี 54 ถึง ปี 56 ก็ต้องเริ่มทำประชาสมพันธ์ตั้งแต่ปี 53 เริ่มทำตอนนี้เลยยิ่งดี ติดขัดปัญหาอะไรจะได้เจรจาพูดคุย สอบถามความคิดเห็นชาวนามีข้อเสนอแนะร่วมด้วย จะได้นำไปพิจารณา แก้ไข ปรับปรุงแนวทางให้เหมาะสมกับทุกฝ่าย"

*เน้นการทำความเข้าใจแทนการออกคำสั่ง

"ถ้าเป็นคำสั่งคนจะเสียความรู้สึก แต่ถ้าการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจมันจะไม่มีปัญหา เป็นกลยุทธ์ เพราะเรื่องบางเรื่องรัฐไม่ได้เก่งไปซะทั้งหมด นักวิชาการก็ไม่ได้รู้ไปซะทุกเรื่อง คนที่ทำจริง และรู้ปัญหาคือคนที่อยู่ในพื้นที่ ก็เอาตรงนี้เป็นองค์ประกอบ รัฐมีนโยบาย พี่น้องเกษตรกรมีส่วนร่วมที่จะทำตามนโยบาย"

*มาตรการจูงใจที่ออกมาพร้อมกับมติลดรอบการทำนา

"ก็เข้าใจ นั่นคือนโยบายแต่อาจจะไม่ตรงใจ ตรงประเด็นไปซะทุกที่ เพราะพันธุ์พืชที่จะให้ก็ต้องดูว่าพืชอะไร สภาพดินที่ไหนเหมาะจะปลูกพืชอะไร แล้วบางคนทั้งชีวิตปลูกแต่ข้าวเพียงอย่างเดียว อยู่ดีๆจะให้หยุดทำนา เปลี่ยนไปปลูกผัก ปลูกหญ้า ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องดูความเหมาะสม ข้อสำคัญต้องหาตลาดรองรับให้ด้วย ให้ชาวนาปรับตัวได้ พอนานๆเข้ารัฐก็ไม่ต้องไปชดเชยรายได้ให้"

*มาตรการเรื่องผ่อนปรนดอกเบี้ย และเลื่อนกำหนดเวลาชำระหนี้

"เรื่องนี้ก็สำคัญมาก รัฐต้องไปทำความเข้าใจกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องไปพูดคุยตกลงกันให้ดี อย่าให้มีปัญหาตามมา เรื่องหนี้สินเกษตรกรเป็นเรื่องใหญ่ และรวมถึงทำข้อตกลงกับหน่วยงานราชการว่าให้ดีว่าหากยังดื้อปลูกข้าวเกิน 2 ครั้งต่อปีจะถูกตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรด้วย ผมถึงบอกไงว่าให้เร่งทำการประชาสัมพันธ์เสียตั้งแต่ตอนนี้ ชาวนาจะได้ปรับตัวทัน"

*ผลกระทบเรื่องปริมาณผลผลิตหลังลดรอบการทำนาเหลือ 2 ครั้งต่อปี

"ไม่น่ามีหรอก เพราะตอนนี้ข้าวของเราเยอะอยู่แล้ว ข้าวล้นตลาดอยู่แล้ว บางทีถ้าเป็นไปได้การส่งออกข้าวน้อยลงมา ราคาอาจจะขึ้นมา แนวทางในการส่งออกหลายฝ่ายก็ต้องคุยกันให้ชัดเจนว่าเมื่อลดรอบการทำนาแล้ว โรงสี ผู้ผลิต ผู้ส่งออกต้องทำกันหลายๆด้าน หลายๆอย่าง ไม่ใช่ว่าลดตรงนี้ไปแล้วรัฐเพิกเฉย มันต้องมาวางแนวทางการทำตลาด การส่งออกด้วยว่าบริโภคภายในประเทศเท่าไหร่ จะส่งออกเท่าไหร่ ต้องทำควบคู่กันไปด้วยให้ครอบคลุมในทุกๆด้านจะได้ไม่เกิดปัญหาตามมา"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ