ก.คลังอังกฤษประกาศยกเครื่องระบบกำกับดูแลการเงิน เปิดทางให้แบงก์ชาติมีอำนาจเต็มที่

ข่าวต่างประเทศ Thursday June 17, 2010 11:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีคลังอังกฤษ ประกาศปฏิรูประบบกำกับดูแลภาคการเงินของประเทศครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการยุบสำนักงานบริการการเงิน (Financial Services Authority : FSA) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับในปัจจุบัน และมอบอำนาจเกือบทั้งหมดให้แก่ธนาคารอังกฤษ

ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อบรรดานายธนาคารและนักการเงินในงานเลี้ยงรับประทานอาหารค่ำประจำปีที่ Mansion House เมื่อคืนนี้ นายออสบอร์นกล่าวว่า เขาจะรื้อระบบกำกับดูแลการเงินในปัจจุบันที่แบ่งอำนาจออกเป็น 3 จุด ประกอบด้วย ธนาคารกลาง สำนักงานบริการการเงิน และกระทรวงการคลัง ซึ่งระบบนี้จัดตั้งขึ้นโดยอดีตนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรมว.คลังในปี 2540

เขายืนยันว่า FSA จะยุติบทบาทลง โดยจะเหลือไว้เพียงส่วนที่มีหน้าที่ตรวจสอบสถาบันการเงิน หรือ Prudential Regulatory Authority แต่จะมอบให้ธนาคารกลางอังกฤษเป็นผู้ดูแล นอกจากนี้ รัฐบาลจะจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ Financial Policy Committee ขึ้นมาใหม่ โดยอยู่ในสังกัดธนาคารกลางอังกฤษเช่นเดียวกัน

ขณะที่ ในส่วนของหน่วยงานที่มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคและปราบปรามอาชญากรรมก็จะได้รับการจัดตั้งเป็นหน่วยงานใหม่ได้แก่ Consumer Protection Agency และ Economic Crime Agency ตามลำดับ

นายออสบอร์นกล่าวว่า ระบบกำกับดูแลภาคการเงินที่รัฐบาลผสมชุดใหม่ของอังกฤษกำลังจะเสนอขึ้นใหม่นั้น เกิดจากการเรียนรู้ความผิดพลาดต่างๆที่นำไปสู่วิกฤตการเงินครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์

เขากล่าวว่า ธนาคารกลางถือเป็นที่พึ่งสุดท้ายสำหรับผู้กู้ ซึ่งจากประสบการณ์ในการเผชิญวิกฤตที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ธนาคารกลางจะต้องรู้จักทุกแง่มุมของสถาบันการเงินต่างๆที่ธนาคารอาจต้องให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือ

ออสบอร์น ซึ่งพรรคอนุรักษ์นิยมของเขาก้าวขึ้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมหลังจากที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา กำลังทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้เมื่อเกือบปีก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการกำกับดูแลธนาคารและตลาดการเงินของอังกฤษ โดยเขาได้วิพากษ์วิจารณ์ระบบกำกับดูแลที่จัดตั้งโดยอดีตนายกฯบราวน์ว่าไม่สามารถป้องกันวิกฤตการเงินที่ทำให้ผู้เสียภาษีต้องแบกรับหนี้มูลค่ามหาศาลถึง 1.4 ล้านล้านปอนด์ (2.1 ล้านล้านดอลลาร์) และฉุดให้เศรษฐกิจอังกฤษเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

"ไม่มีใครควบคุมระดับหนี้ และเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็ไม่มีผู้ใดทราบว่าเป็นหน้าที่รับผิดชอบของใคร" รมว.คลังกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ