(เพิ่มเติม) หอการค้าฯ คาดภัยแล้งทำเสียหาย 4.3-6.5 พันลบ.กระทบ GDP 0.1%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 17, 2010 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ มีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 2 ล้านไร่ คาดว่าภัยแล้งในปีนี้จะสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าราว 4,350-6,550 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ประมาณ 0.1%

จากการสำรวจพื้นที่การเกษตรที่เสียหายจากภัยแล้งจนถึง พ.ค.53 พบว่า มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย 60 จังหวัด มีพื้นที่การเกษตรเสียหายรวม 1,902,649 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพืชไร่ 1,313,819 ไร่ ประเภทอ้อย มันสำปะหลัง แต่จะไม่กระเทือนราคามากนัก เนื่องจากความต้องการใช้พืชทั้งสองชนิดยังมีอยู่ รองลงมาคือ พืชสวน 429,581 ไร่ ส่วนนาข้าวเสียหาย 159,249 ไร่

เทียบกับปี 47 ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรง จากการเกิดเอลนีลโญ่ ภาวะภัยแล้งลากยาวตั้งแต่ปลายปี 2547 จนถึงเมษายน 2548 มีพื้นที่ได้รับความเสียหายสูงถึง 70 จังหวัด พื้นที่การเกษตรเสียหาย 13,627,014 ไร่ แบ่งเป็น นาข้าว 10,098,546 ไร่ พืชไร่ 3,017,045 ไร่ และพืชสวน 511,423 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่อการเกษตรสูงถึง 37,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มองว่าหากสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ลากยาวไปจนถึงเดือน ส.ค.ก็อาจจะสร้างมูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 1-2 หมื่นล้านบาท และกระทบ GDP ราว 1-2% อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสถานการณ์ปีนี้คงจะไม่รุนแรงเท่ากับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 47 ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 3.7 หมื่นล้านบาท

"แต่สถิติในหลายปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยเกิดภาวะภัยแล้งลากยาวจนเลยเดือนก.ค.53 มาก่อน ซึ่งเชื่อว่าปีนี้ก็คงจะไม่รุนแรงมากเท่าปี 47 เราอยากส่งสัญญาณว่าคงไม่ถึงกับต้องวิตกมาก แต่รัฐบาลจะต้องเข้าไปเยียวยาแก้ไข"นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สาเหตุที่เชื่อว่าสถานการณ์ภัยแล้งน่าจะไม่รุนแรงมาก เนื่องจากเกษตรกรเลื่อนการทำนาปีออกไป ฝนเริ่มตกตามฤดูกาล แต่อาจจะมีฝนทิ้งช่วงบ้างในเดือน ก.ค. มีการปฏิบัติการฝนหลวง ทำให้พื้นที่เสียหายจากภัยแล้งลดลงเรื่อยๆ ซึ่งล่าสุดพื้นที่ได้รับความเสียหายลดลงเหลือเพียง 29 จังหวัด

ทั้งนี้ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ถือเป็นผลกระทบทางจิตวิทยา เป็นผลต่อการดำรงชีวิตและ เป็นผลต่อการเพาะปลูกบ้าง แต่จะไม่ส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรขาดหายไปจากตลาดจนทำให้ราคาสินค้าเกษตรแพงจนเกินไปนัก

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร คือ ให้ข้อมูล ความรู้กับเกษตรกร แนะนำเกี่ยวกับการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย หรือหาอาชีพเสริมทำในช่วงแล้ง, ให้เงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และเตือนหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับภัยแล้งว่าจะเกิดขึ้นในช่วงใดและให้หลีกเลี่ยงการทำเกษตรในช่วงดังกล่าว

นายธนวรรธน์ มองว่า หากรัฐบาลจะช่วยเหลือเกษตรกรก็ต้องช่วยเหลือตามสถานการณ์จริง นี่เป็นการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมได้โดยไม่ยาก ซึ่งมองว่าการที่รัฐบาลคิดจะแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ถือว่ามาถูกทางแล้ว แต่ต้องทำอย่างจริงจัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ