ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดปี 53 ส่งออกกุ้งโต 25% อานิสงส์ศก.โลกฟื้น-ดีมานด์สูง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 18, 2010 12:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า ในปี 53 มูลค่าการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์จะขยายตัวได้ประมาณ 25% หรืออาจสูงกว่านี้หากมีปัจจัยทางด้านราคาเป็นตัวช่วยหนุนให้มูลค่าการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้นไปอีก นอกเหนือไปจากปัจจัยความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่สหรัฐฯซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในรัฐหลุยส์เซียน่าที่ถือเป็นแหล่งทำประมงสำคัญที่มีมูลค่าการผลิตอาหารทะเลประมาณ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 79,200 ล้านบาท มีสัดส่วนเป็น 1 ใน 3 ของผลผลิตอาหารทะเลทั้งหมดของสหรัฐฯ และยังเป็นแหล่งผลิตกุ้งได้ปีละประมาณ 45 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69 ของปริมาณการผลิตกุ้งทั้งหมดของสหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยกสิกร ระบุว่า หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าการรั่วไหลของน้ำมันจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลของสหรัฐฯ ให้ผลผลิตกุ้งของสหรัฐฯมีปริมาณลดลงประมาณ 45,000 ตันในปีนี้ ขณะที่ความต้องการนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯก็ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อชดเชยกับปริมาณผลผลิตที่ลดลง

และไทยยังจะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกไปยังตลาดที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณผลผลิตกุ้งของสหรัฐฯที่ลดลง อาทิ ตลาดยุโรปและญี่ปุ่น เพราะถือเป็นตลาดส่งออกในอันดับต้นของไทยอยู่เดิม ทำให้ต้องนำเข้ากุ้งจากไทยเพิ่มขึ้น

นอกเหนือจากปัจจัยด้านเศรษฐโลกที่เริ่มฟื้นตัว ยังคงมีปัจจัยสำคัญหลายด้านที่มีส่วนช่วยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมการส่งออกกุ้งของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 53 ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง คือ ปริมาณผลผลิตกุ้งของคู่แข่งที่ลดลงจากปัญหาการระบาดของโรคไวรัสกล้ามเนื้อขุ่น(IMN)ในช่วงปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปีนี้ในอินโดนีเซียและบราซิล

โดยเฉพาะอินโดนีเซียซึ่งถือเป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปตลาดสหรัฐฯและญี่ปุ่น ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลให้ผลผลิตกุ้งของทั้ง 2 ประเทศมีปริมาณลดลงไปอย่างน้อยประมาณร้อยละ 40 จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยจะสามารถขยายปริมาณการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์เข้าไปทดแทนในตลาดที่ได้รับผลกระทบ

การที่สหรัฐฯประกาศพิจารณาการเก็บภาษีเอดีจากไทยใหม่ จึงอาจมีโอกาสที่ไทยจะเสียภาษีเอดีในอัตราที่ต่ำลงกว่าปีที่แล้ว ซึ่งในการพิจารณาเบื้องต้นระบุอัตราภาษีเฉลี่ยทั้งประเทศที่เรียกเก็บจากไทยร้อยละ 3.19 ซึ่งลดลงจากการพิจารณารอบที่แล้ว และด้วยปัญหาด้านผลผลิตกุ้งของสหรัฐฯที่มีแนวโน้มลดลงมากในปีนี้ จึงอาจมีส่วนช่วยผลักดันให้การพิจารณาอัตราการจัดเก็บภาษีเอดีของสหรัฐฯรอบนี้เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยมากขึ้นด้วย

การขยายช่องทางการส่งออกของผู้ประกอบการ ที่เน้นขยายตลาดอาหารทะเลไปยังประเทศในแถบแอฟริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และรัสเซีย เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ในประเทศแอฟริกาใต้จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ความต้องการบริโภคอาหารทะเลเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งจากภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจร้านอาหารต่างๆที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปี 53 จะเป็นปีที่เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมกุ้งของไทย แต่ก็ยังมีประเด็นที่เกษตรกรและผู้ประกอบการต้องระวัง คือ ปริมาณผลผลิตกุ้งที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลาดในช่วงปลายปีจากการเร่งผลิตเนื่องด้วยราคาที่จูงใจ และอาจทำให้กุ้งที่ผลิตได้มีขนาดตัวเล็กไม่ได้คุณภาพ ดังนั้น เกษตรกรและผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญในด้านการเพาะเลี้ยง โดยเน้นที่คุณภาพ และขนาดกุ้ง

รวมทั้งควรให้ความสำคัญในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม กระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และความปลอดภัยในด้านการปนเปื้อนของผลิตภัณฑ์/การบรรจุ/ระบบการขนส่ง ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น และต่างหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการควบคุมผลิตภัณฑ์นำเข้า

ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยต้องเข้มงวดในการป้องกันโรคระบาดในกุ้งจากต่างประเทศไม่ให้แพร่กระจายเข้ามาในไทย เพื่อไม่ให้เป็นการเสียโอกาสการทำตลาดในช่วงนี้ และมีประเด็นที่ต้องเฝ้าจับตา คือ ความผันผวนของค่าเงินบาทที่อาจแข็งค่าขึ้น จนส่งผลให้ความสามารถในการส่งออกของไทยด้อยกว่าคู่แข่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ