"กรีนสแปน"เตือนสหรัฐอาจเผชิญภาวะต้นทุนกู้ยืมสูงขึ้น แนะรัฐบาลเปลี่ยนโครงสร้างนโยบายคลัง

ข่าวต่างประเทศ Friday June 18, 2010 13:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวแสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ว่า สหรัฐอาจเผชิญกับภาวะต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นในเร็วๆนี้ เนื่องจากตัวเลขหนี้สาธารณะของรัฐบาลที่สูงขึ้น พร้อมกับแนะนำให้รัฐบาลสหรัฐเปลี่ยนโครงสร้างนโยบายการคลัง เพื่อควบคุมการกู้ยืม

"ปริมาณการกู้ยืมที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในสหรัฐเป็นเหมือนภาพลวงตา และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวในปัจจุบันกำลังบดบังปัญหาหนี้สินของสหรัฐ สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวพุ่งขึ้นแบบทันทีทันใดและเหนือความคาดหมาย เหมือนกับที่เคยพุ่งขึ้นไปยืนที่ระดับ 4% เป็นเวลานานถึง 4 เดือนในช่วงปี 2522 - 2523" กรีนสแปนวัย 84 ปี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานเฟดในช่วงปี 2530 - 2549

กรีนสแปนไม่เห็นด้วยกับการที่หลายฝ่ายกังวลว่า การลดยอดขาดดุลงบประมาณจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยในขณะนี้คณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกกำลังอภิปรายกันถึงแนวทางการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้มีการประกาศในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์การเงิน

"สหรัฐ และกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก จำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างนโยบายการคลัง เพราะการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ แรงกดดันในตลาดทุนจะบรรเทาลงหากรัฐบาลสหรัฐสามารถควบคุมการขายพันธบัตรได้ โดยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้นเพราะนักลงทุนแห่ถือครองพันธบัตรเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเนื่องมาจากวิกฤตหนี้ในยุโรป ซึ่งวิกฤตหนี้เช่นนี้ถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่ยั่งยืน" กรีนสแปนซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาลูกค้าในบริษัทจัดการกองทุนหลายแห่ง รวมถึงแปซิฟิก อินเวสเมนท์ แมเนจเมนท์ (พิมโค) ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนพันธบัตรรายใหญ่สุดของโลก กล่าว

นอกจากนี้ กรีนสแปนกล่าวว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในปัจจุบันยังถือว่าต่ำ แม้ตัวเลขหนี้สาธารณะของรัฐบาลในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมาได้พุ่งขึ้นไปยืนอยู่ที่ระดับ 8.6 ล้านล้านดอลลาร์ จากระดับ 5.5 ล้านล้านดอลลาร์ก็ตาม

ทั้งนี้ ณ เวลา 12.11 น.ตามเวลาโตเกียวในวันนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรประเภท 10 ปีของรัฐบาลสหรัฐ อยู่ที่ระดับ 3.20% จากระดับสูงสุดของปีที่เคยทำไว้เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาที่ 4.01%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ